การโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ขั้นตอนสำคัญในการ "ซื้อบ้านมือสอง"

19,827 8

เมื่อตัดสินใจเลือกซื้อบ้านมือสองสักหลัง คุณจำเป็นต้องใส่ใจในรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่คุณควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่จะมีอะไรบ้างนั้น ไปอ่านกันเลย

1.เตรียมค่าใช้จ่าย
ในการโอนกรรมสิทธิ์บ้าน จะมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง เช่น ค่าธรรมเนียมทำนิติกรรม ค่าอากร ค่าจดจำนอง ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น โดยมีหลักการคำนวณตามราคาประเมินของตัวบ้านอีกที ซึ่งเป็นจำนวนเงินเยอะพอสมควรเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป หากใครมีเงินสดไม่พอ สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้ โดยให้ธนาคารออกเช็คสำหรับค่าใช้จ่ายในการโอนบ้านให้นั่นเอง

2.ตรวจรับมอบบ้าน
เมื่อถึงวันนัดหมายรับมอบบ้าน จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อผู้ซื้อเพื่อเข้าตรวจรับมอบบ้าน ซึ่งเราสามารถมาตรวจด้วยตนเองหรือให้คนอื่นมาแทนก็ได้ หากแบบและโครงสร้างบ้านเป็นไปตามที่ตกลงไว้ และไม่มีการชำรุดทรุดโทรมใดๆ เราซึ่งเป็นผู้ซื้อก็สามารถรับมอบได้เลย แต่หากพบว่าบ้านมีปัญหา ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือซ่อมแซม ก็จะต้องมีการแก้ไขก่อนนัดหมายตรวจรับมอบบ้านในครั้งถัดไป

3.เตรียมเอกสาร
สิ่งสำคัญที่ต้องมีในการโอนกรรมสิทธิ์บ้านก็คือเอกสารของผู้ซื้อ โดยส่วนใหญ่เอกสารที่จะต้องเตรียมก็เป็นเอกสารพื้นฐานสำหรับใช้ในการดำเนินการต่างๆ ทั่วไป ได้แก่ บัตรประชาชนตัวจริง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและคู่สมรส ทะเบียนบ้าน หนังสือยินยอมของคู่สมรส สำเนาใบทะเบียนสมรส หนังสือมอบอำนาจและเอกสารพื้นฐานของผู้รับมอบอำนาจ กรณีที่ไม่ได้มาดำเนินการด้วยตนเอง

4.โอนกรรมสิทธิ์
เมื่อเตรียมค่าใช้จ่ายและเอกสารพร้อมแล้ว ให้แจ้งไปยังผู้ขายและธนาคารที่ขอสินเชื่อ เพื่อนัดวันโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ณ สำนักงานที่ดิน เพราะหลังจากที่ธนาคารอนุมัติเงินกู้ซื้อบ้านกับผู้ซื้อแล้ว ผู้ขายจะทำการโอนกรรมสิทธิ์บ้านให้ผู้ซื้อ จากนั้นผู้ซื้อจะนำบ้านไปจำนองต่อกับธนาคาร เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงิน ซึ่งผู้ขายก็จะได้รับเงินทั้งหมดจากการขายบ้านภายในวันนั้นเลย ดังนั้นจึงจำเป็นที่การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องทำให้จบภายในวันเดียว โดยมีผู้ซื้อ ผู้ขาย และธนาคาร ดำเนินการร่วมกัน แต่หากผู้ซื้อหรือผู้ขายไม่สะดวกที่จะไปดำเนินการเอง ก็สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแทนได้เช่นกัน

5.ตรวจสอบและจัดเก็บหลักฐาน
หลังจากที่บ้านถูกโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ผู้ซื้อต้องอย่าลืมตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งเอกสารหรือหลักฐานจะได้แก่ โฉนด ใบแสดงกรรมสิทธิ์ หนังสือสัญญาซื้อขาย ใบเสร็จค่าธรรมเนียมการโอน หนังสือสัญญาจำนอง และใบเสร็จค่าจดจำนอง ซึ่งจะมีเพิ่มมาในกรณีที่มีการขอสินเชื่อนั่นเอง

ได้รู้ถึงหลักการและขั้นตอนคร่าวๆ ของการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองกันไปแล้วในอนาคตหากต้องการซื้อบ้านมือสอง เราก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและมั่นใจขึ้น