เทคนิคกักตุนอาหารแบบมืออาชีพ ข้อควรรู้สำหรับคน Work From Home

2,193 0

คนทำงาน WFH หลายคนบ่นวุ่นยิ่งกว่าทำงานอยู่ออฟฟิศ เพราะฉะนั้นออกนอกบ้านแต่ละครั้งก็ต้องตุนข้าวของกันรัวๆ ซึ่งบางคนเก็บไม่เป็นก็เน่าเสีย สิ้นเปลืองไปอีก วันนี้ ‘ตลาดนัดบ้านมืองสอง’ มีเทคนิคกักตุนอาหารแบบมืออาชีพมาบอกกัน

ไอเทมจำเป็นสำหรับการกักตุน
• กล่องใส่อาหารแบบมีฝาล็อก ที่ช่วยป้องกันอากาศและความชื้นได้ดี และควรเลือกแบบกล่องสี่เหลี่ยมเพราะเก็บซ้อนได้ง่าย ประหยัดพื้นที่
• ขวดโหลฝาล็อก เหมาะสำหรับของแห้ง เช่น เครื่องปรุง ธัญพืช เส้นสปาเก็ตตี้/พาสต้า
• ถุงซิปล็อก ใส่ของได้แบบอเนกประสงค์ ทั้งเนื้อสัตว์ ผลไม้ ขนม ของแห้งต่างๆ
• ฟิล์มถนอมอาหาร สำหรับห่อของที่ทานไม่หมด เช่น ผักผลไม้ อาหารปรุงสำเร็จ

เทคนิคเก็บรักษาเนื้อสัตว์
แบ่งเนื้อสัตว์เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่จะทำอาหารมื้อถัดไป และส่วนที่เก็บรักษาไว้ โดยทั้งสองส่วนนี้ให้นำมาล้างให้สะอาด และซับให้แห้ง ส่วนที่จะทำอาหารให้หั่นเป็นชิ้น เพื่อสะดวกในการปรุง แล้วใส่ลงในถุงซิปล็อคหรือกล่องปิดฝา แช่ตู้เย็นในช่องธรรมดา ส่วนที่เก็บไว้วันอื่นๆ ให้ใส่ถุงเก็บในช่องฟรีซ

เทคนิคเก็บรักษาอาหารทะเล
• ปลา กุ้ง และหมึกแบบสด ล้างแล้วซับให้แห้ง ใส่ถุงซิปล็อคหรือกล่องมีฝาปิด ถ้าจะใช้ทำอาหารมื้อถัดไปให้แช่ตู้เย็นช่องธรรมดา หากเก็บไว้นานแช่ช่องฟรีซ หากเป็นอาหารทะเลแช่แข็ง ให้รีบนำแช่ในช่องฟรีซทันที อย่าปล่อยจนน้ำแข็งละลายเพราะทำให้เสียไวขึ้น
• ปูสด ควรนึ่งทันที แล้วแกะเนื้อทุกส่วนใส่กล่อง แช่ในตู้เย็นช่องธรรมดา

เทคนิคเก็บรักษาไข่
ไข่สด ทั้งไข่เป็ดและไข่ไก่ที่ไม่เคยผ่านการแช่เย็นมาก่อน สามารถอยู่ในอุณหภูมิห้องนาน 7-10 วัน ถ้าอยากเก็บให้นานขึ้นให้เก็บใส่ช่องไข่ในตู้เย็น โดยหันเอาด้านแหลมลง

เทคนิคเก็บขนมปัง
ถ้าคิดว่ากินไม่ทันวันหมดอายุ ให้ห่อทีละแผ่นด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ หรือฟิลม์ถนอมอาหารให้มิดชิด แล้วนำไปแช่ช่องฟรีซ จะเก็บได้นานขึ้น 2 สัปดาห์ เมื่อจะทานให้เอามาวางที่อุณหภูมิห้อง ก่อนอุ่นด้วยเตาอบ หรือเครื่องปิ้ง

เทคนิคเก็บผักผลไม้สด
• ต้นหอม ผักชี ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ตัดส่วนที่เป็นใบเหลืองออก ล้างน้ำ ซับหรือผึ่งให้แห้ง ห่อด้วยกระดาษหรือเก็บในถุงซิปล็อค โดยรีดอากาศออกให้หมด นำใส่ช่องแช่ผัก
• ผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักสลัด ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ 1-2 ชั้น โดยไม่ต้องล้าง ใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุงให้แน่น เก็บใส่ช่องแช่ผัก
• ส้ม เก็บในอุณหภูมิห้องโดยไม่ให้โดดแสงแดด ถ้าอยากยืดอายุให้นานขึ้นนำใส่ถุงตาข่าย หรือถุงพลาสติกเจาะรู แล้วแช่ในตู้เย็น
• กล้วย เลือกซื้อหวีที่ยังไม่เหลืองดี นำมาห่อที่ขั้วของหวี ด้วยฟิล์มถนอมอาหาร ช่วยป้องกันก๊าซเอทิลีน ทำให้กล้วยสุกช้าลง
• อโวคาโด หากยังไม่สุกดี วางที่อุณหภูมิห้องได้ แต่ถ้าผิวเริ่มนิ่ม ให้เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา

กักตุนอาหารครั้งหน้า อย่าลืมนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้กัน นอกจากจะไม่ต้องออกไปซื้อของกันบ่อยๆ แล้ว ยังไม่ต้องทิ้งของให้สิ้นเปลืองด้วย