ข้อควรระวัง! หากจะสร้างบ้าน 'หน้าฝน'

3,412 0

กลางปีนี้ประเทศไทยของเรา ก็เข้าสู่หน้าฝนกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แถมมีท่าทางว่าจะตกไม่เป็นระเบียบซะด้วย หนักเบากรมอุตุยังเดาไม่ได้ และแน่นอน ว่าฝนตัวปัญหา นำพาความทั้งความชุ่มฉ่ำ พร้อมกับความเดือดร้อนมาให้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการ 'ก่อสร้าง' ถามว่าหน้าฝนเราสามารถสร้างบ้านได้หรือไม่

คำตอบ  สร้างได้แน่นอน
เพียงแต่ว่าต้องมีข้อระวังและเอาใจใส่มากขึ้นนิดหน่อย

เราลองตามมาดูกันดีกว่า ว่าปัญหาของงานก่อสร้างหน้าฝน และวิธีรับมือ มีอะไรบ้าง?
1.ปัญหาเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ ปัญหาระดับชาติที่ต้องเจอแน่นอน จะทำให้งานเดินช้าลง และยากลำบากมากยิ่งขึ้น ที่ต้องเน้นคือ เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะ เรื่องไฟฟ้า จะต้องติดตั้งแผงควบคุมในบริเวณที่ฝนสาดไม่ถึง และ ต้องไม่ใช้การวางสายไฟกับพื้นดิน แต่ต้องตั้งเสาเพื่อสำหรับการเดินสายไฟ

2.ปัญหาเรื่องการเก็บกองวัสดุ ได้แก่
• เหล็กเส้น หรือเหล็กรูปพรรณ ควรยกให้สูงจากพื้นดินเพื่อป้องกันการเกิดสนิม ถ้ายิ่งมีผ้าใบคลุมกันฝน ยิ่งดีเลย
• ปูนซีเมนต์ ซึ่งห้ามโดนความชื้นเด็ดขาด! ควรเก็บในโรงเรือนเก็บ และต้องยกพื้นสูงประมาณ 20 เซนติเมตร นอกจากนี้ควรมีผ้าใบคลุมไว้ด้วย ถ้าปล่อยให้ตากฝน ปูนโดนความชื้นประสิทธิภาพจะลดลง
• ทรายและหิน ถึงแม้ว่าจะเป็นวัสดุที่โดนน้ำได้ ไม่เป็นอะไร แต่! ระวังปนเปื้อนกับโคลน ถ้าจะนำไปผสมคอนกรีตต้องล้างให้สะอาดเสียก่อน

3.ปัญหาเรื่องดิน สำคัญและห้ามมองข้ามเด็ดขาด เพราะครอบคลุมในงานหลายๆ ด้าน ได้แก่
• การทำรากฐาน หรือ ถังเก็บน้ำใต้ดิน ต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น ถ้ามีรากฐานใหญ่ และอยู่ลึกจากผิวดินมากกว่า 1.50 เมตรขึ้นไป ควรประเมินการพังทลายของหลุมดินระหว่างการทำงาน เนื่องจากดินที่อุ้มน้ำมีโอกาสพังทลายได้ง่าย อาจเกิดอันตรายกับคนงาน ถ้าหลุมลึกมากกว่า 2 เมตร ควรทำระบบป้องกันการพังทลายของหลุม โดยใช้เสาเข็มไม้กดล้อมไว้ก่อนขุดดิน นอกจากนี้ควรขุดบ่อพักไว้ที่ก้นหลุมสำหรับการติดตั้งเครื่งสูบน้ำเมื่อเกิดฝนตก
• งานเดินระบบท่อ อย่าให้น้ำไหลเข้าไปในท่อ ด้วยการหาพลาสติกหรือฝาครอบปิดไว้
• การเทคอนกรีต ให้หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ฝนอาจจะเทลงมาไปเลยดีกว่า แต่ถ้าอยู่ระหว่างการเทคอนกรีตและหยุดไม่ได้ ให้สูบน้ำจากบ่อพักที่เตรียมไว้ แล้วเทต่อเนื่องไปได้เลย เนื่องจากเนื้อคอนกรีตมีความหนาแน่นกว่าน้ำ คอนกรีตจะไหลแทนที่น้ำและดันนำให้ลอยขึ้นมาที่ผิวบน อย่างไรก็ตามก็ต้องสูบน้ำที่อยู่ภายนอกแบบหล่อออกอย่างต่อเนื่อง และอุดรอยรั่วให้น้อยที่สุด และเมื่อเทคอนเรีตเสร็จแล้ว ถ้าฝนตกอยู่ให้หาผ้าใบมาคลุมไว้เพื่อไม่ให้ถูกน้ำจนเจอจางใช้ไม่ได้

4.ปัญหาเรื่องสี สำหรับเรื่องนี้ได้รับผลกระทบจากฝนแบบเต็มๆ เพราะถ้าฝนตกสีจะได้รับความชื้น อาจจะทำให้เกิดการโป่งพองและลอก ถ้าเป็นไปได้ ควรเลี่ยงการทาสีหน้าฝนไปเลยดีกว่า

5.ปัญหาค่าวัสดุ และค่าแรง วัสดุบางประเภทจะถูกปรับราคาให้สูงขึ้น เนื่องจากผลิตลำบาก เช่น อิฐมอญ ส่วนค่าแรงหน้าฝนคนงานนิยมกลับบ้านไปทำสวน ทำนา ที่ต่างจังหวัด อาจจะหาแรงงานยาก หรือโดนขอขึ้นค่าแรงค่ะ นี่เป็นเพียงปัญหาการทำงานก่อสร้างเมื่อยามหน้าฝนเบื้องต้น ที่หลีกเลี่ยงไม่ค่อยจะได้ซะด้วย แต่ถ้าเราตั้งสติ และตั้งรับ เลือกช่างที่มีอาชีพหน่อย ประกอบกับนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับประยุกต์ การสร้างบ้านหน้าฝน ก็จะผ่านได้ด้วยดี

ที่มา : นิตยสาร บ้านพร้อมอยู่ ฉบับเดือนมิถุนายน 2560