LALIN มองดอกเบี้ยเริ่มนิ่ง หนุนความต้องการซื้อพุ่ง

27 ธ.ค. 2566 408 0

           นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN เปิดเผยว่า บริษัทมองเทรนด์การตลาดในปี 2567 ที่แบรนด์ระดับแถวหน้าต่างให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก คือ ผู้บริโภค (Consumer), ฐานข้อมูล (Data) และกระแสความยั่งยืน (Sustainability) เพราะเป็น 3 กุญแจสำคัญที่จะไขประตูสู่ความสำเร็จได้ด้วยการนำข้อมูลต่างๆ มาพัฒนากลยุทธ์ให้เข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น

          ขณะที่ในปี 2567 เทรนด์ของผู้บริโภคจะเริ่มเปลี่ยนเข้าสู่ยุคประหยัดอย่างชาญฉลาดโดยเฉพาะกลุ่มตลาดบ้านสำหรับผู้ที่ต้องซื้อเป็นที่อยู่อาศัยจริงๆ (Real Demand) ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทค่อนข้างเน้นมาโดยตลอด ดังนั้นการทำความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์ผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ที่ผ่านมาเราเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสนิยมผู้บริโภคมาโดยตลอด ในปีหน้าก็เช่นกัน

          แบ็กล็อกแน่น 1.2 พันล.

          โดยบริษัทได้สรุปเทรนด์ของ ผู้บริโภคในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ 1.ให้ความสำคัญต่อประสบการณ์ใหม่ 2.ให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจเป็นหลัก 3.ให้ความสำคัญต่อการสร้างชีวิตที่สมดุลกว่าเดิม และ 4.ให้ความสำคัญต่อการแสวงหาและเพิ่มคุณค่าสูงสุดอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทจะเดินหน้าพัฒนาให้ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกกลุ่ม

          สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 บริษัทคาดว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันเริ่มนิ่ง ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคม 2566 บริษัทก็ได้เปิดโครงการทาวน์โฮม มูลค่าราว 600 ล้านบาท เพิ่มอีก 1 โครงการ รวมทั้งสิ้น 12 โครงการ ทำให้มูลค่าการเปิดโครงการใหม่ในปี 2566 เพิ่มขึ้นไปที่ราว 9,000 ล้านบาท

          ขณะที่เป้ายอดขายปี 2566 อยู่ที่ 8,600 ล้านบาท และยอดโอน 6,850 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ที่ราว 1,200 ล้านบาท โดยจะสามารถรับรู้ รายได้ถึงปี 2567 ประกอบกับ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/2556 บริษัทมีจำนวนสินค้าคงคลัง (Inventerry) ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 12,811.1 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 10,720.8 ล้านบาท

          พร้อมเปิดโครงการใหม่

          และยังมีที่ดินที่รอการพัฒนา อยู่ที่ 2,324.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 2,141 ล้านบาท ซึ่งหากคำนวณตามมาตรฐานการบันทึกทางบัญชี ที่ดินเปล่าหากยังไม่มีการพัฒนาที่ดินส่วนนี้ ก็จะย้ายไปอยู่ในกลุ่มสินค้าคงคลัง (Inventerry) ทำสินค้าคงคลังให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

          โดยมูลค่าสินค้าคงคลังทั้งหมด สินค้าที่เป็นบ้านสำเร็จรูปพร้อมขายของบริษัทไม่ได้มีสัดส่วนที่มาก เนื่องจากบริษัทมีการควบคุมความเสี่ยงเป็นอย่างดี และเน้นการพัฒนาโครงการแนวราบ โดยพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพื่อเป็นการทดแทนโครงการเดิมที่ขายหมดไป เป็นต้น

 

 

ที่มา: