EIC ชี้สงครามทุบเศรษฐกิจยับ ห่วงใช้จ่ายทรุด/เฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ14ปี
“EIC” ลุยหั่นจีดีพีปี 65 เหลือ 2.7% ชี้ผลกระทบสงครามกระทุ้งราคาพลังงาน-สินค้าโภคภัณฑ์ทะยานแรง เงินเฟ้อกระฉูด 4.9% สูงสุดรอบ 14 ปี ห่วงใช้จ่ายในประเทศชะลอสวนทางค่าครองชีพ ตลาดแรงงานยังซึม คลังแนะรัฐทบทวนมาตรการภาษี-ลดหย่อน แก้ปมรายได้ทรุด
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้า หน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2565 ลงมาอยู่ที่ 2.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% เนื่องจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปีจะเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับ 4.9%
ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยเฉพาะการบริโภคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบ ทั้งจากกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงตามราคาพลังงานและอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และจากการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ทันค่าครองชีพ
ขณะที่การส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผ่านแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรปที่ชะลอลงกว่าคาด และปัญหาการชะงักงันของอุปทานที่รุนแรงขึ้น ทำให้ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้ที่ 6.1%
สำหรับภาคการท่องเที่ยว มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวรวมถึงการทยอยเปิดการเดินทางของหลายประเทศ จะช่วยชดเชยการชะลอลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ส่งผลให้ในปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยราว 5.7 ล้านคน ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 5.9 ล้านคน ขณะที่การฟื้นตัวของภาคบริการตามทิศทางการเปิดเมืองจะส่งผลให้การจ้างงานในประเทศทยอยฟื้นตัว แต่ตลาดแรงงานไทยยังคงมีความเปราะบาง จากชั่วโมงการทำงานที่ลดต่ำลงมาก การไหลกลับของแรงงานไปในภาคเกษตร รวมถึงแนวโน้มการทำงานอิสระที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดทั้งปัญหาระยะสั้นจากรายได้จากการทำงานลดต่ำกว่าเดิมค่อนข้างมาก และปัญหาระยะยาวจากจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและการปรับทักษะของแรงงานลดลง
อย่างไรก็ดี EIC มองว่า นโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแบบหน้ากระดานมีผลเสียที่ไม่ตั้งใจอย่างน้อย 3 มิติ คือ 1.เงิน อุดหนุนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้มีรายได้น้อย 2.การตรึงราคาพลังงานที่ระดับใดระดับหนึ่งนานเกินไป ทำให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมาก เป็นภาระด้านงบประมาณ สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจหากภาครัฐจำเป็นต้องยกเลิกอุดหนุนโดยฉับพลัน ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้ และ 3.ในระยะยาว การอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลที่ไม่สะท้อนต้นทุนเป็นเวลานาน ส่งผล ให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำ ภาครัฐควรเปลี่ยนมาตรการโดย เน้นบริหารราคาพลังงานในลักษณะทยอยปรับขึ้นราคา และเสริมด้วยมาตรการอุดหนุนเฉพาะจุด
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2564 โดยประมาณการสัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อจีดีพียังคงมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาทบทวนมาตรการยกเว้นภาษีและมาตรการลดหย่อนต่างๆ ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ควบคู่ไปกับการพิจารณาแนวทางเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์