CPN ผุดยักษ์มิกซ์ยูส สร้างอาณาจักรพหลโยธิน 

19 ม.ค. 2566 716 0



          ย่านพหลโยธิน ทำเลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวลุกเป็นไฟ เมื่อยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือCPN ลงมือก่อสร้าง เมืองมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ หรือถูกขนานนามว่าเช็นทรัล 2 บนที่ดิน เนื้อที่เกือบ 50 ไร่ บริเวณสถานีพหลโยธิน 24 ตรงข้ามแดนเนรมิตเก่า ซึ่งที่ผ่านมาได้ซื้อที่ดินแปลงนี้ต่อมาจาก บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จุดพลุอาณาจักร ชื่อมโยงศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวขุมทองคำของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ห้าแยกลาดพร้าว แลนด์มาร์ค สำคัญทางตอนเหนือกรุงเทพมหานคร ที่มีแนวโน้มว่า CPN จะต่ออายุสัญญา ส่งผลให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงรับการพัฒนาตลอดแนว

          ขณะความคึกคักพื้นที่โดยรอบ มีโครงการขนาดใหญ่ โรงแรมคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานใหม่ โอบล้อมปลุกที่ดินโดยรอบมีชีวิตชีวา เชื่อมโยงระหว่างกัน หากเซ็นทรัล2แล้วเสร็จเปิดให้บริการ จะสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่อย่างมหาศาล เพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนอยู่อาศัยและทำงานในย่านดังกล่าว

          นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือ CPN เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้แจ้งต่อตลาด หลักทรัพย์เพื่อลงทุนโครงการรูปแบบมิกซ์ยูส บนที่ดินแปลงพหลโยธิน ในเฟสที่ 1 มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท เมื่อช่วงปลายปีซึ่งเป็นโครงการ ขนาดใหญ่ตามแผนยุทธศาตร์ เพราะมองว่าเป็นทำเลศักยภาพ เนื่องจากมีรถไฟฟ้าผ่าน ขณะเดียวกันมีการเปิดประเทศผ่อนคลายสถานการณ์โควิด-19 เมื่อแล้วเสร็จเปิดให้บริการจะส่งผลดีต่อพื้นที่ ขณะที่ดินรถไฟที่จะหมดอายุสัญญาลงในปี 2571 บริษัทยืนยันว่าไม่คิดจะทิ้งและต้องการต่อสัญญาต่อเนื่องเพียงต้องรอสัญญาณจากภาครัฐเนื่องจากเซ็นทรัลลาดพร้าวบริษัทได้พัฒนาต่อเนื่องมากว่า 40 ปี และยังมองว่าเป็นแลนด์มาร์คอันดับหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้

          “กระแสข่าวลือเซ็นทรัลลาดพร้าว CPN ไม่เคยคิดทิ้ง คือเราไม่เคยบอกว่าไม่ทำแน่นอนว่าต้องรอภาครัฐให้สัญญาณซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาเซ็นทรัลลาดพร้าวและปักหลักมากว่า 40 ปี เป็นทำเลที่เราเข้าใจผู้บริโภคเป็นทำเลอันดับหนึ่งที่มีศักยภาพ”

          “ฐานเศรษฐกิจ” สอบถาม ผู้ควบคุมการก่อสร้างระบุว่า อยู่ระหว่างก่อสร้างเสาเข็มและกำแพงคันดินเริ่มตั้งแต่ เมื่อวันที่1 ธันวาคม 2565 และสิ้นสุดการก่อสร้างในช่วงนี้ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ลำดับต่อไปโดยมีแผนพัฒนาเป็น โครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า ภัตราคารห้องประชุมโรงมหรสพสถานศึกษา สำนักงาน ตลาดและจอดรถยนต์ สูง 7 ชั้น โดยมีชั้นใต้ดิน 3ชั้น ขณะใบอนุญาตก่อสร้าง (อ.1) เลขรับที่ 228/ 2565 ออกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 โดยมีบริษัทเบย์วอเตอร์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก เริ่มการก่อสร้าง

          เป้าหมายคาดว่าจะแล้วเสร็จราวปี2571 มีทั้งห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียมอาคารสำนักงานซึ่งเป็น ปีที่เซ็นทรัลลาดพร้าวหมดสัญญากับการรถไฟพอดี โดยมีแผนพัฒนา 2 เฟส มูลค่ารวม 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริเวณนี้จะเป็นอีกแลนด์มาร์คใหม่เชื่อมโยงระหว่างกันกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ที่ห่างจากแปลงที่ดินไม่เกิน 300 เมตร หากยังต่อสัญญากับ การรถไฟฯ ทั้งนี้ผู้ควบคุมงานยังระบุว่า เชื่อว่า CPN จะยังต่อสัญญากับการรถไฟฯเพราะเมื่อรถไฟฟ้าเชื่อมถึงการพัฒนาคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นกำลังซื้อจะมารอบทุกสารทิศ

          ด้าน รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ส่วนการต่อสัญญาเช่าที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน เนื้อที่ 47.22 ไร่ พัฒนาเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ของบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ตั้งแต่ปี 2521 ครบสัญญารอบแรก 30 ปี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 หลังจากนั้นได้มีการเจรจาต่อสัญญาอีก 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2551-วันที่ 18 ธันวาคม 2571 โดยรฟท.ได้ผลตอบแทนคิดเป็นวงเงินรวมตลอดอายุสัญญา 21,298 ล้านบาท ปัจจุบันเอกชนยังมีความสามารถในการชำระค่าเช่าตามสัญญาที่กำหนด ซึ่งมีการกำหนดชำระทุกวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกๆปี

          ทั้งนี้การชำระค่าเช่าโครงการฯดังกล่าว รฟท.ได้ค่าเช่าระหว่างปี 2551-2561 รวมวงเงิน 8,668 ล้านบาท โดยปี 2562 ชำระแล้ว จำนวน 1,036 ล้านบาท ส่วนปี 2563 ชำระแล้ว จำนวน 1,165 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 ชำระแล้ว จำนวน 1,234 ล้านบาท และในปี 2565 จะครบกำหนดชำระวันที่ 18 ธันวาคมประมาณ 1,300 ล้านบาท

ที่มา: