CMC คาดผลงานปี67ดีขึ้น รับตลาดอสังหาฯฟื้นตัวเน้นขยายแนวราบเพิ่ม

06 พ.ย. 2566 295 0

 

          CMC ประเมินผลการดำเนินงานปี 67 ดีขึ้น รับตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัว เตรียมทยอยเปิดโครงการมากขึ้น เน้นขยายตลาดแนวราบมากขึ้น หวังสร้างการรับรู้รายได้ที่สม่ำเสมอ

          นายวิเชียร แพทยานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ CMC เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2567 น่าจะดีขึ้น หลังจากภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับบริษัทมีแผนทยอยเปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้น โดยในปี 2567 บริษัทจะเน้นขยายสู่ตลาดแนวราบมากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้รายได้ที่สม่ำเสมอมากขึ้น ซึ่งน่าจะหนุนให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นด้วยเช่นกัน

          “ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา CMC ได้ลดความเสี่ยง โดยการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นการฟื้นตัว เราจึงมีการทยอยเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ชะลอไว้ ในปีหน้า CMC ได้เอาโครงการที่อยู่ในแผนเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาออกมาเปิดตัวมากขึ้น แต่จะทยอยเปิดเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในปีหน้า CMC จะมีการพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้น ซึ่งจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 20% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 10% การบุกขยายสู่ตลาดแนวราบมากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ที่สม่ำเสมอมากขึ้น” นายวิเชียร กล่าว

          สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว แม้จะมีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามากระทบอยู่บ้าง แต่ตลาดก็ยังคงจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องโดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากความชัดเจนในการมีรัฐบาล ซึ่งเป็นรัฐบาลที่นานาชาติให้การยอมรับ เชื่อว่าจะมีแรงส่งให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยดีขึ้น

          ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงน่าเป็นห่วง คือ หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับกำลังซื้อที่เปราะบาง แต่บริษัทมองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นตัว โดยเห็นได้จากรัฐบาลชุดใหม่ที่ออกนโยบายมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจประเทศไทยดีขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงนโยบายที่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จะช่วยกระตุ้นวัฏจักรฐานราก จากกลุ่มรากหญ้าขึ้นมาสู่ด้านบน ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจประเทศไทยก้าวหน้าต่อไปได้

          นายวิเชียร กล่าวอีกว่า เมื่อประเทศไทยก้าวหน้า โดยการที่อัตราการขึ้นค่าแรง อัตราการเพิ่มการลงทุน รวมถึงอัตราการว่างงานที่ต่ำลง ทำให้ระบบเศรษฐกิจจะดีขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ครัวเรือนมีความสามารถในการชำระหนี้ที่มีอยู่ กำลังซื้อจะกลับมา แต่อาจจะต้องใช้เวลา โดยปัจจุบันที่เห็นสัดส่วนของนักลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นเพราะสัดส่วนลูกค้าในกลุ่ม Real Demand ลดลง เนื่องจากปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหนี้ครัวเรือนปัจจุบันมี 2 ประเภท ได้แก่ 1.หนี้ที่เกิดจากภาวะโควิด-19 ทำให้เกิดเป็น NPA และ NPL และ 2.หนี้ที่ยังมีกำลังผ่อน ซึ่งถือเป็นหนี้ที่ดี โดยยังคงมีสัดส่วนที่สูงกว่าหนี้เสีย โดย CMC ยังคงเน้นลูกค้าในกลุ่ม Real Demand โดยจะมีสัดส่วนที่ประมาณ 80% ส่วนกลุ่มนักลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 20%

          ส่วนตลาดหุ้นกู้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการใช้เครื่องมือทางการเงินประเภทดังกล่าว ขณะที่บริษัทขนาดกลาง-เล็กยังคงใช้เครื่องมือทางการเงินประเภทดังกล่าวไม่มากนัก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของตลาดรวมเท่านั้น ดังนั้น จึงยังคงมีความเชื่อมั่น อีกทั้งตลาดหุ้นกู้ยังมีความเข้มงวด การออกหุ้นกู้ที่ออกจะมีหลักประกันตลอด ซึ่งการมีหลักประกันจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนด้วย

 

ที่มา: