ไม่ถึงไตรมาส บาทแข็ง 5.5%ธปท.ยันดูแลความผันผวน
ใกล้สิ้นปี 2563 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ 29.98 บาทเลยทีเดียว
ข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย พบว่า ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.ถึงวันที่ 9 ธ.ค. แข็งค่าไปแล้วราว 0.8% ขณะที่ในไตรมาส 4 ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.ถึงปัจจุบันแข็งค่าแล้วประมาณ 5.5% และหากย้อนไปช่วงต้นปีก่อน “โควิด-19” จะระบาดหนักทั่วโลก ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างมาก โดยต้นปีจนถึงวันที่ 2 เม.ย. อ่อนค่าไปถึง 9.13% จนไปอยู่ที่ระดับ 32.978 บาทต่อดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจาก ณ วันที่ 2 เม.ย.จนถึงปัจจุบันแข็งค่าไปถึง 9.83% แต่หากนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทยังอ่อนค่า 0.20%
“บาทแข็ง” สุดรอบ 11 เดือน
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาท ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบปีนี้ หรือในรอบกว่า 11 เดือน โดยขณะนี้ ตลาดรอประเมิน 2 สัญญาณสำคัญที่อาจจะมีผลต่อทิศทางค่าเงินในระยะข้างหน้า ได้แก่ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) และท่าทีดูแลค่าเงินบาทจากทางการ (ธนาคารแห่งประเทศไทย)
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์กรอบเงินบาทในปี 2564 ที่ 29.00-29.25 บาท เนื่องจากเงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล 1.6-1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พร้อมจะผ่อนคลายนโยบายการเงิน ส่งผลให้แนวโน้มเงินดอลลาร์มีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่สามารถควบคุมได้
ธปท.ดูแลเบรกความผันผวน
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วย ผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า หลังจากข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ารวดเร็ว 3.5% ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ทำให้สกุลเงินภูมิภาคหลายประเทศปรับแข็งค่าขึ้นมาก อาทิ เงินหยวนแตะระดับแข็งค่าในรอบ 2 ปีครึ่ง เงินวอนเกาหลีใต้และเงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าในรอบ 3 ปี เงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าในรอบ 23 ปี
“เงินบาทได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเช่นเดียวกัน โดยตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.5% เทียบกับเงินวอนเกาหลีใต้ที่ 4.5% และเงินรูเปียห์อินโดนีเซียที่ 3.9% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับต้นปี เงินบาทยังอ่อนค่าอยู่เล็กน้อย ทั้งนี้ ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและได้เข้าดูแล เพื่อชะลอความผันผวนที่จะกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึงจะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด”
ชี้ต่างชาติเก็งกำไรป่วนตลาด
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าจนมีหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ไปบางช่วง หลัก ๆ มาจากแรงเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เคลื่อนผันผวน ธปท.จึงต้องเข้ามาดูแล ในระยะถัดไป ไม่ควรยึดติดกับระดับราคามากนัก เพราะว่าจะอยู่ที่ 30 บาท หรือ 29.9 บาท ก็ไม่ได้ให้ตลาดเปลี่ยนแปลงมากนัก
“ระยะต่อไป ควรประคองแค่ไม่ให้แข็งหรืออ่อนทางใดทางหนึ่งมากและเร็วเกินไปก็พอ ไม่ควรไปมองว่าต้องราคาไหน แล้วผู้ส่งออกก็ต้องมองเป็นสัญญาณเตือนภัย ว่าดอลลาร์มีโอกาสอ่อน และ 30 บาท ไม่ใช่จุดที่ต้องยึดติด ทั้งนี้ เรามองสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะจบที่ 30.2 บาท”
จี้อัดสภาพคล่องเข้าระบบ
แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านเอสเอ็มอี กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีขึ้นมาก เกิดจากการที่ทั่วโลกมีการพิมพ์เงิน อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบมหาศาล แต่ประเทศไทยแทบไม่มีการอัดฉีด ซึ่งแต่เดิมจะอัดฉีด 9 แสนล้านบาท คือ ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท กับกองทุนตราสารหนี้อีก 4 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้ใช้ไปแค่ 1.2 แสนล้านบาทในส่วนของซอฟต์โลน
“คนอื่นเขาพิมพ์เงินกัน แต่เราไม่พิมพ์ ก็ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ตอนแรกที่บอกจะอัดฉีด 9 แสนล้านบาท แต่เงื่อนไขยุบยับไปหมด จนเงินไม่ออก ตอนนี้สภาพคล่องก็ไปกองอยู่กับแบงก์หมด เพราะคนไม่เอาเงินไปลงทุน”
คาด ธปท.มีมาตรการดูแลเพิ่ม
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) กล่าวว่า ย้อนหลังไปในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา พบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 20.6% ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 ถึงปัจจุบัน โดยเมื่อเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าราว 9.8% ซึ่งมองไปข้างหน้าเงินดอลลาร์ยังมีทิศทางอ่อนค่า จากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว และสงครามการค้าลดความรุนแรงลง ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ประกอบกับไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสะสมค่อนข้างมาก
โดย EIC ให้กรอบประมาณการที่ 29.50-30.50 บาทต่อดอลลาร์ ทิศทาง แข็งค่าจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า และมีข่าวเรื่องวัคซีน การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าจากต้นปี 2563 ที่อ่อนค่าประมาณ 10%
“เงินบาท ถ้าแข็งค่าในระดับ 3-5% เป็นระดับที่ผู้ประกอบการบริหารจัดการได้ แต่มากกว่า 5% เริ่มจะลำบากและมีความท้าทาย แต่แนวทางดูแลของ ธปท.ถือว่ามาถูกทางแต่ต้องใช้เวลาจึงเห็นผล คาดว่าน่าจะออกมาอีก โดยระยะสั้นคงเห็นการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ เพื่อไม่ให้ไหลเร็วเกินไป”
คงต้องติดตามว่า ธปท.จะมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร และเมื่อใด ซึ่งเชื่อได้ว่าปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า ธปท.ยังคงต้องเข้าดูแลความผันผวนอย่างต่อเนื่องแน่นอน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ