แบงก์เงินฝากท่วมตลอดทั้งปี
เงินฝากล้นแบงก์ทั้งปี ! ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปีนี้เงินฝากทั้งระบบโต 10.5% จากปีก่อนที่โตแค่ 3.9% เผยไตรมาส 2 โตแล้ว 11.5% ขณะที่ แบงก์กอดเงินฝากแน่น ชี้ในภาวะวิกฤตยอมสภาพคล่องล้นดีกว่าขาด “ทีเอ็มบี-เกียรตินาคินภัทร” หั่นดอกเบี้ยเงินฝากลดภาระต้นทุน
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในไตรมาส 2 ปี 2563 เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ มียอดคงค้างเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ถือเป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเติบโตขึ้น 11.5% แต่เริ่มชะลอลงจากไตรมาส 1 ที่เพิ่มขึ้นราว 8 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2562
โดยในเดือน มิ.ย. เงินฝากคงค้าง ลดลงราว 2.7 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากเงินฝากประจำครบกำหนดค่อนข้างมากช่วงนี้ และธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ออกโปรดักต์เงินฝากพิเศษมาทดแทน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ยอดเงินฝากลดลง อย่างไรก็ดี เงินฝากในกลุ่มลูกค้าบุคคลธรรมดาและลูกค้าธุรกิจ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 สัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 83% โดยสัดส่วนเงินฝากบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 56.7% และธุรกิจ 26.3% ของยอดเงินฝากคงค้างที่มีอยู่ 14.3 ล้านล้านบาท
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แนวโน้มเงินฝากทั้งปี 2563 จะยังคงขยายตัวสูงในระดับ 10.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากผู้ฝากเงินยังไม่รู้จะนำสภาพคล่องที่มีอยู่ไปทำอะไร จึงยังพักไว้ที่เงินฝาก ซึ่งตอนนี้แม้ว่าจะมีการคลายล็อกดาวน์ แต่ความ เชื่อมั่นยังไม่ฟื้นเต็มที่ ขณะที่ ปีก่อน เงินฝากขยายตัวเพียง 3.9%” นางสาวกาญจนากล่าว
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ตอนนี้เงินฝากของธนาคารอยู่ที่ราว 1.3-1.4 ล้านล้านบาท โดยจะเห็นว่าสภาพคล่องถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับทิศทางการปล่อยสินเชื่อที่คาดว่าจะทรงตัว อย่างไรก็ดี มองว่าในภาวะเช่นนี้สภาพคล่องล้นดีกว่าสภาพคล่อง ไม่มี หรือมีไม่เพียงพอ ซึ่งธนาคารก็ต้องหาวิธีบริหารสภาพคล่องส่วนเกิน โดยปัจจุบันเงินฝากส่วนหนึ่งจะนำไปฝากไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“ธนาคารรับเงินฝาก ดอกเบี้ยหรือต้นทุน 1% แต่ไปฝาก ธปท.ได้เพียง 0.5% ทำให้ธนาคารต้องหาวิธีการบริหารต้นทุนส่วนที่เหลือ 0.5% เช่น การปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้น ซึ่งพยายามจะลดเฉพาะดอกเบี้ยในส่วนของนิติบุคคล ส่วนดอกเบี้ยเงินฝาก รายย่อยจะลดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น” นายปิติกล่าว
นายปิติกล่าวด้วยว่า ธนาคารพยายามแนะนำลูกค้าเงินฝากให้ไปลงทุนในตลาดอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก เช่น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น เป็นต้น แต่ในช่วงที่ผ่านมา บรรยากาศการลงทุนค่อนข้างผันผวน ทำให้ ลูกค้ายังคงฝากเงินกับธนาคารอยู่ แต่ปัจจุบันสภาวะตลาดเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น
“เราติดตามสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารอยู่ เพราะเราต้องดูว่าเงินฝากที่ไหลเข้ามาจะเป็นเงินร้อน (hot money) ที่มาพักไว้หรือไม่ เพราะถ้าเรานำสภาพคล่องเรานี้ไปลงทุนอะไรยาว ๆ หากเป็นเงินพักระยะสั้นอาจจะเกิดปัญหาได้ เราจึงต้องระมัดระวังว่าจะนำสภาพคล่องเหล่านี้ไปทำอะไร เพราะต้องยอมรับว่าเงินฝากแบงก์ไหลเข้าเร็ว และไหลออกเร็ว หากมีสถานการณ์ที่ทำให้ตกใจ ก็ถอนออก หรือคนกลัวก็เอามาพักไว้ ซึ่งต้องบริหารให้ดีในยามภาวะไม่ปกติ” นายปิติกล่าว
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า สถานการณ์เงินฝากตอนนี้ค่อนข้างล้น และเชื่อว่าเป็นเหมือนกันทุกธนาคาร เพราะลูกค้ายังไม่มั่นใจในสถานการณ์ยังคงเอาเงินมาฝากไว้กับธนาคาร โดยในส่วนของธนาคารเกียรตินาคินภัทรจะเห็นว่าอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR) ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาขึ้นไปสูงสุดถึง 200% จากที่ธปท. กำหนดไว้ที่ระดับ 100%
“ดอกเบี้ยยังไงก็ต้องลดลง เพราะเงินฝากมันเยอะเกินไป แต่ถ้าเราลดมากก็ห่วงลูกค้า เราก็ต้องสร้างสมดุลด้วย และเราก็พยายามชวนลูกค้าไปลงทุนในตลาดอื่น ๆ แต่ลูกค้าเงินฝากก็ยังอยู่ เพราะกลัวเรื่องความเสี่ยง และก็ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร ขณะเดียวกันแบงก์ก็ต้องมีสภาพคล่องไว้เผื่อ เพราะตอนนี้แบงก์ก็ไม่ได้เก็บดอกเบี้ยได้หมด การมีสภาพคล่องไว้ก็ดี ซึ่งเราก็มีเยอะมาก แม้ตอนนี้จะลดลงมาบ้างอยู่ที่ 160-170% แต่ก็ยังสูงกว่าที่ต้องการเยอะมาก” นายอภินันท์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ