แบงก์ชาติเกาะติด โอไมครอน มั่นใจโลกเอาอยู่ยืนจีดีพีปีนี้0.7%
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และปัญหาภาวะอุปทานชะงักงัน (supply distruption) ที่ทยอยคลี่คลาย
ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงบ้างหลังจากเร่งไปในเดือนก่อนสำหรับภาพรวมของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ยังไม่ชัดเจนมากนัก ต้องดูพัฒนาการของเชื้อไวรัส ว่ามีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งทาง ธปท. ก็ได้จับตาดู รอความชัดเจนจากองค์การอนามัยโลกใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อจะมีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตามในหลายประเทศมีการออกมาตรการป้องกันรับมือได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า เป็นสัญญาณที่ดีว่าเมื่อเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีการเข้าไปดูแลอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งหลายบริษัทที่ผลิตวัคซีนก็ได้ออกข่าวการพัฒนาวัคซีน เพื่อให้รับมือสายพันธุ์ใหม่ได้ดีขึ้น ทั้งนี้จะมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในการประชุมคณะกรรมการ กนง. ครั้งหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทาง ธปท. ได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือกับประชาชนมาตลอดตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งแรก แล้วได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับการคงอยู่ของโรคโควิด ทำอย่างไรให้ช่วยได้ตรงจุดและตรงปัญหา เพราะทรัพยากรมีจำกัด อย่างมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ไปจนถึงมาตรการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้ลูกหนี้สามารถปรับตัวได้ในระยะยาว
“ประเมินจีดีพีไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ตามคาดการณ์อยู่ที่ 0.7% เมื่อพิจารณาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ จะยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ หากจะมีผลจริงจะอยู่ในช่วงต้นปี 2565” นางสาวชญาวดี กล่าว
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll จากผู้บริหาร ส.อ.ท. 160 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หัวข้อ “สินค้าแพง ต้นทุนพุ่ง กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านั้น มาจากราคาน้ำมันและพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง 10-20% และคาดการณ์ว่า แนวโน้มต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมใน 3-6 เดือนข้างหน้า จะยังคงปรับเพิ่มขึ้นอีก 10-20%
“ผลสำรวจด้านข้อเสนอภาครัฐ ต้องกาให้ภาครัฐช่วยเหลือด้วยการพยุงราคาพลังงาน ตรึงราคาค่าไฟฟ้า (เอฟที) และลดค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า, น้ำประปา) เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและประชาชน ขณะที่ผู้ประกอบการควรนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม” นายวิรัตน์กล่าว
ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญอย่างรุนแรง คือ การกลายพันธุ์ของโควิด-19 และการแพร่ระบาดโอไมครอน ที่เริ่มกระทบหนักในหลายประเทศและน่ากังวลมากขึ้นจากที่มีการพบที่ฮ่องกงแล้ว ดังนั้น จากการที่หารือกันในสมาคมฯ เห็นว่าการเฝ้าระวัง และใช้มาตรการเข้มงวดเรื่องการเข้าออกประเทศ จำเป็นต้องปรับแผนโดยด่วน เพราะหากมีการแพร่ระบาดวงกว้างในประเทศไทย จะซ้ำเติมทั้งประเทศและเศรษฐกิจโดยรวม
นายแสงชัย กล่าวว่า การเตรียมพร้อม แผนฉุกเฉินรองรับสถานการณ์ โอไมครอน ต้องเตรียม 1. แผนวัคซีน ATK อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น ความพร้อมโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel รวมทั้งการซักซ้อมทำความรู้ ความเข้าใจกับบุคลากรทางการแพทย์ 2.แผนรองรับมาตรการเข้มงวดกับการลักลอบเข้าประเทศทุกช่องทาง และ 3. แผนงบประมาณรองรับความเสี่ยง และมาตรการผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจน 4. แผนเร่งวิจัยและพัฒนายา สมุนไพรรักษาและการตรวจเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพในการพึ่งพาภายในประเทศ
ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์