รายได้ค่าฟีแบงก์ทรุดถึงปี 64 คนเลิกบัตรATMหันใช้ดิจิทัล
รายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์ทรุดหนัก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินปี’63 หดตัว -10.5% คาดปี’64 ติดลบต่อ เจอหลายปัจจัย ทั้ง ธปท.คุมเข้ม-พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนใช้ “โมบายแบงกิ้ง” แบงก์เร่งลดต้นทุน-ค่าใช้จ่ายสาขา-ตู้เอทีเอ็ม เปิดข้อมูลแบงก์ชาติ 9 เดือนแรก ยกเลิกบัตรเอทีเอ็ม/เดบิตรวมเฉียด 6 ล้านใบ
รายได้ค่าฟีแบงก์วูบหนัก
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ ทั้งระบบในปี 2564 ประเมินว่ายังคงเห็นการหดตัว 3% ถึงขยายตัว 1% ด้วยมูลค่า 1.67-1.73 แสนล้านบาท จากปี 2563 ที่คาดว่าจะหดตัว 10.5% ด้วยตัวเลขรายได้ 1.72 แสนล้านบาท
สถานการณ์รายได้ค่าธรรมเนียมในปี 2564 ยังต้องระมัดระวัง แต่จะเห็นการทยอยฟี้นตัวตามกิจกรรมเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น เช่น หมวดเกี่ยวกับการใช้จ่าย สินเชื่อ และการขายผลิตภัณฑ์ เป็นต้น จากปี 2563 จะเห็นว่ารายได้ค่าธรรมเนียมปรับลดลงทุกหมวด โดยเฉพาะกลุ่มบัตรต่าง ๆ อาทิ บัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตหดตัว 11% และบัตรเครดิตหดตัว 20% ขณะที่ค่านายหน้า หดตัว 6% ส่วนกลุ่มที่พอไปได้จะเป็น กลุ่มที่ปรึกษา-บริการโอนเงินภาคธุรกิจ ช่วงไตรมาส 1-2 เป็นบวก แต่ไตรมาส 3-4 เริ่มติดลบ ส่งผลทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวได้ราว 5%
ค่าฟีตัวหลัก “ขายประกัน”
“รายได้ค่าธรรมเนียมจะแบ่งเป็น 2-3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสินเชื่อที่คาดว่าจะขยายตัวได้เล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตไม่สูงมาก 2.กลุ่มรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุน กลุ่มนี้มีสัญญาณดีขึ้น แต่เทียบในช่วง 2-3 ปีก่อนโควิด-19 ยังไม่ได้กลับไปสู่ระดับเดิม และ 3.กิจกรรมตลาดทุน ซึ่งสัดส่วนรายได้ไม่สูงประมาณ 2% ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ตัวอื่น ๆ กรณีการขายประกันสัดส่วน 22% บัตรเอทีเอ็ม-เดบิตราว 17% โดยรวมมองว่าปีหน้ารายได้ค่าฟียังคงปริ่ม ๆ”
ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ของธนาคารพาณิชย์ จะแบ่งเป็นรายได้จากสินเชื่อหรือดอกเบี้ยประมาณ 80% และรายได้ ค่าธรรมเนียมประมาณ 20% โดยใน ปี 2562 สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 20.4% และใน ปี 2563 ลดลงเหลือ 19.6% คาดว่าในปี 2564 สัดส่วนจะอยู่ใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ดี ช่วงก่อนการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนผ่านระบบพร้อมเพย์ จะเห็นรายได้ค่าธรรมเนียมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 5% ต่อปี แต่ภายหลัง ยกเว้นค่าธรรมเนียมพร้อมเพย์ ประกอบกับมีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการสินเชื่อน้อยลง รวมถึงมีเกณฑ์การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องการให้บริการอย่างเป็นธรรม (market conduct) ทำให้รายได้การขายปรับลดลง ส่งผลให้ภาพรวมการเติบโตด้านค่าธรรมเนียมจำกัดมากขึ้น ซึ่งธนาคารพาณิชย์พยายามหารายได้ค่าธรรมเนียมใหม่ ๆ มาทดแทน เช่น การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ หรือการโอนเงินต่างประเทศก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เป็นต้น
เคแบงก์ยอมรับหดตัว 30% ต่อปี
นายพัชร สมะลาภา กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้ม รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารยังคงเห็นการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีประมาณ 30% เนื่องจากลูกค้าหันไปใช้ช่องทางโมบายแบงกิ้งค่อนข้างมาก ซึ่งธนาคารไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม จึงเห็นรายได้ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่มีบริการพร้อมเพย์
ขณะเดียวกันปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ก็ไม่นิยมทำบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต เน้นทำธุรกรรมบนโมบายแอป ส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนของบัตรก็ลดลงด้วย โดยตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. 2563 ยอดสมัครบัตรเดบิตของเคแบงก์อยู่ที่ 2.73 ล้านใบ จากฐานลูกค้าบัตรเดบิต ณ เดือน ต.ค. 2563 อยู่ที่ 12 ล้านใบ และมียอดการใช้จ่ายบัตรเดบิต (ม.ค.ต.ค. 63) อยู่ที่ราว 6.85 หมื่นล้านบาท
“ค่าธรรมเนียมลดลงต่อเนื่อง และยังคงเห็นการลดลงอีกเรื่อย ๆ หากดูช่วง 1-2 ปีหลัง รายได้ธนาคารหายไปราว 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งลดลงทั้งจากการปรับดอกเบี้ย MLR, MRR, MOR รวมทั้งดอกเบี้ยบัตรต่าง ๆ และยังมีค่าธรรมเนียมจากพวกเงินโอนต่าง ๆ ที่ธนาคารให้ฟรีมาตลอด ซึ่งก็พยายามหารายได้อื่นมาทดแทน แต่คงไม่สามารถชดเชยได้แบบหนึ่งต่อหนึ่ง”
ปีแรกที่ถอนเงินสด “ลดลง”
ด้านนางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบหันมาให้บริการกดเงินไม่ใช้บัตร ส่งผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมจากบัตรเดบิต-เอทีเอ็ม ปรับลดลงแน่นอน อย่างไรก็ดี ยังคงมีลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ยังต้องการถือบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม เนื่องจากสามารถเบิกถอนเงินต่างธนาคารได้ทุกตู้ ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็ว เพราะกรณีกดเงินไม่ใช้บัตรต้องใช้บริการจากตู้เอทีเอ็มธนาคารนั้น ๆ ภาพรวมค่าธรรมเนียมของบัตรหายไปบ้าง แต่เป็นการทยอยปรับลดลง
ขณะเดียวกันแนวโน้มการใช้เงินสดปรับลดลงด้วย โดยปีนี้มูลค่าการถอนเงินสดลดลงราว 8% ซึ่งเป็นปีแรกที่การถอนเงินสดลดลง และทิศทางการใช้ตู้เอทีเอ็มลดลงต่อเนื่อง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่โยกไปใช้บริการบนดิจิทัล ดังนั้น ในอนาคตต้นทุนของการติดตั้งตู้เอทีเอ็มจะปรับลดลง หรือผลักดันให้เกิดการรวมตัวเป็นเอทีเอ็มสีขาว (white label ATM) ตามนโยบายของ ธปท. ส่งผลให้ต้นทุนการบริหารจัดการลดลง สอดคล้องกับรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับลดลงได้
สอดคล้องกับนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมทยอยปรับลดลงต่อเนื่องทุกปี ส่วนหนึ่งมาจากคนทยอยหันไปใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น หรือทำธุรกรรมในส่วนที่ธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้ วิธีการบริหารจัดการของธนาคาร คือ การลดต้นทุนทางการเงินให้อยู่ที่ระดับ 32-35% จากปัจจุบันอยู่ที่ 45% รวมถึง การขยายช่องทางความร่วมมือผ่านการ จัดตั้งตัวแทนธนาคาร (banking agent) ในการทำธุรกรรมแทนการเปิดสาขา หรือเพิ่มจำนวนเอทีเอ็ม
เลิกใช้ ATM/เดบิต 6 ล้านใบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า จำนวนบัตรเอทีเอ็มโดยรวมทั้งระบบ ณ เดือน ก.ย. 2563 อยู่ที่ 10.79 ล้านใบ ลดลงจากสิ้นปี 2562 ที่มีจำนวน 15.32 ล้านใบ โดยลดลงถึง 4.52 ล้านใบ รวมทั้งในส่วนของบัตรเดบิตข้อมูลล่าสุดมีจำนวน 63.92 ล้านใบ จากเมื่อ ธ.ค. 2562 มีจำนวน 64.77 ล้านใบ ซึ่งถือว่าปรับลดลงประมาณ 8.5 แสนใบ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ