นักลงทุนผวาทำธุรกิจใหม่ในอีอีซีหด

02 พ.ย. 2563 445 0

          กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย ธุรกิจจัดตั้งใหม่ 9 เดือนในอีอีซีมีจำนวน 4,879 ราย ลดลง 14.04% ในแง่มูลค่าทุนจดทะเบียนลดลงถึง 29.70% ผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย และการระบาดของโควิด-19 ทำ นักลงทุนชะลอ คาดปลดล็อกดาวน์หนุนฟื้นกลับมาลงทุนใหม่ โดยญี่ปุ่นลงทุนสูงสุด

          นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ประกอบด้วย จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และจ.ระยอง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย. 2563 มีจำนวน 4,879 ราย ลดลง 14.04% หรือลดลงจำนวน 797 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าทุนจดทะเบียน 13,947 ล้านบาท ลดลง 29.70%

          โดยประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนสูงสุดในพื้นที่ อีอีซี 3 อันดับแรก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ 772 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,709 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารทั่วไป 396 ราย มูลค่า 665 ล้านบาท และตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ 189 ราย มูลค่า 508 ล้านบาท

          “สาเหตุส่วนหนึ่งที่จัดตั้งธุรกิจใหม่ในอีอีซีลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยทั้งด้านการค้าและการลงทุน และผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้มีการปิดน่านฟ้าในหลายๆ ประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง การขนส่งสินค้า จึงชะลอการตัดสินใจลงทุน”

          ปัจจุบันมีธุรกิจคงอยู่ในพื้นที่อีอีซี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 รวมทั้งหมด 72,185 หมื่นราย ทุนจดทะเบียน 1,944,283 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.91% เมื่อเทียบกับธุรกิจคงอยู่ในพื้นที่ อีอีซี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562 ในส่วนของธุรกิจต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2563) มีจำนวน 526 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 88,282 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 6 ราย เพิ่มขึ้น 1% สอดคล้องกับสัญญาณการบรรเทาลงของ โควิด-19 ประกอบกับการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ ที่น่าจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจัดตั้งในพื้นที่อีอีซี

          สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี 2563 การลงทุนของต่างชาติในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งในไทย (ต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49.99%) โดยมีมูลค่าทั้งสิ้น 790,205.88 ล้านบาท คิดเป็น 40.64% ของมูลค่าทุนทั้งหมด ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสูงสุด 381,075 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48.22% รองลงมาคือ จีน 90,298 ล้านบาท มีสัดส่วน 11.43% และสิงคโปร์ 43,263 ล้านบาท มีสัดส่วน 5.47%

ที่มา: