นอนแบงก์แห่ปล่อยกู้ ดิจิทัล
“กรุงศรี” จ่อขอไลเซ่นส์ เชื่อธุรกิจเติบโตสูง
ธปท.ชี้ “แบงก์-นอนแบงก์” แห่ขออนุญาตปล่อยสินเชื่อบุคคลดิจิทัลคึกคัก ล่าสุดไฟเขียว 2 ราย แย้มอยู่ระหว่าง พิจารณาอีกหลายราย หวังช่วยประชาชนเข้าถึงสินเชื่อ ลดพึ่งพาหนี้นอกระบบ ด้านกรุงศรีฯ จ่อยื่นขอไลเซ่นส์ แนวโน้มธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการ อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในส่วนการขอใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) หรือขออนุญาตธปท. เพื่อขอปล่อยสินเชื่อ ส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) ปัจจุบันพบว่า ทั้งสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการ ทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) มีความสนใจเข้ามาขออนุญาตจากธปท.แล้วหลายราย สะท้อน ความสนใจในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อบุคคลดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่ตลาดให้ความสนใจในการเข้าไปปล่อยกู้ค่อนข้างมาก
ล่าสุดธปท.ได้อนุมัตินอนแบงก์เข้ามา ให้บริการ สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแล้ว 2ราย ณ วันที่ 22 มี.ค.2564 คือ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด และ บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด และอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติเพื่ออนุญาตให้เข้ามาปล่อยกู้อีกหลายรายในอนาคต
โดยเชื่อว่า สินเชื่อบุคคลดิจิทัล เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ที่ต้องการ สินเชื่อ และช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง สินเชื่อได้มากขึ้น รวมถึงสามารถช่วย ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.อยากเห็นมาโดยตลอด
“วันนี้เราอนุมัติไปแล้ว 2ราย และอยู่ระหว่างพิจารณาอีกหลายราย ซึ่งก็พบว่า มีผู้ประกอบการทั้งนอนแบงก์ และแบงก์ให้ความสนใจเข้ามาคุยหลายรายต่อเนื่อง ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วย ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ มากขึ้น ไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ ในด้าน ผู้ประกอบการก็ต้องสร้างระบบดิจิทัล และการจัดเก็บข้อมูลต่างๆขึ้นมา เพื่อใช้ประเมินในการให้สินเชื่อที่หลากหลายมากขึ้น”
ด้านนางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า ล่าสุด บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียม พร้อมในการขออนุญาตจากธปท. เช่นเดียวกัน เพื่อเข้าไปปล่อยสินเชื่อ ส่วนบุคคลดิจิทัล ซึ่งคาดว่าหากได้รับ การอนุมัติ บริษัทก็น่าจะเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ราวปลายปีนี้
การหันมาขอไลเซ่นส์ ปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล บริษัทมองว่า สินเชื่อ มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในอนาคต อีกทั้ง การปล่อยสินเชื่อในอนาคต จะถูกปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล และใช้ข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน และดาต้าชุดอื่นๆมาวิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้บริษัท และ ช่วยในการเข้าถึงฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ ในอนาคต
“วันนี้เราพยายามเปลี่ยนโหมดการปล่อยสินเชื่อไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพราะอนาคตการปล่อยกู้คงไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราลดต้นทุน ลดเวลาให้เราสามารถทำงานได้รวดเร็ว และช่วยปรับคุณภาพการปล่อยกู้ให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ ว่าเราจะบุกออนไลน์เต็มที่ ดังนั้นเราจะเน้นทุกตัวที่เป็นการปล่อยกู้ดิจิทัล หากทุกอย่างเรียบร้อย หลังขออนุญาตไปก็คาดว่า ปลายปีนี้เราจะสามารถปล่อยกู้ได้”
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อบุคคลดิจิทัล ถือเป็นสินเชื่อเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน ให้สามารถใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) เป็นข้อมูล ประกอบในการขอสินเชื่อได้ เช่น การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รายได้ หรือพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ เพื่อใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ได้ด้วย
โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้น กำหนดให้ผู้ประกอบการ สามารถปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแก่ ผู้บริโภคแต่ละรายรวมไม่เกิน 20,000 บาท และมีกำหนดระยะเวลา การชำระคืนสินเชื่อแต่ละสัญญาไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์การกู้ยืม และกำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ รวมกันไม่เกิน 25%
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ