ธปท.ออกมาตรการช่วยลูกหนี้รักษาสภาพคล่องเติมเงินใหม่

23 ส.ค. 2564 514 0

         คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) อนุมัติมาตรการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ จาก COVID-19 ได้อย่างยั่งยืน 1.รักษาสภาพคล่อง เติมเงินใหม่  2.การแก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เพื่อให้มาตรการทางการเงินช่วยบรรเทาผลกระทบได้มากขึ้นในระหว่างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 จึงมีมติอนุมัติมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ดังนี้

          1. การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

          (1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้ SMEs ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ธปท. อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 92,316 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมระหว่าง ธปท. กับสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาทได้ก่อนเดือนตุลาคม 2564 โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีและครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 30,194 ราย เฉลี่ยรายละ 3.1 ล้านบาท ซึ่ง เป็นลูกหนี้ธุรกิจขนาดเล็ก (ร้อยละ 42.6) ประกอบธุรกิจการพาณิชย์และบริการ (ร้อยละ 67.5) และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ร้อยละ 68.5) อย่างไรก็ดี ธปท. ประเมินว่าภาคธุรกิจยังมีความต้องการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

          (2) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว โดย

          2. การแก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์ ปัจจุบันและช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริง ที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดมีความไม่แน่นอนสูง เดิมคาดว่าจะควบคุมได้และคลี่คลายในเวลาไม่นาน ทำให้เน้นการแก้ปัญหาแบบระยะสั้น เช่น การพักชำระหนี้เป็นครั้งคราว หรือปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะสั้นเป็นหลัก แต่สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดมาก การแก้ปัญหาแบบเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้ทำให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้พูดคุยเพื่อประเมินสถานการณ์ หรือหาทางแก้ไขที่จะช่วยให้ภาระของลูกหนี้ลดลงจริง

          นอกจากนี้ ต้องไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) ให้กับลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริงอย่างได้ผล และรักษาสมดุลและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ในภาวะวิกฤต ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

          2.1 สถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อย และ SMEs (ตามนิยามของสถาบันการเงิน) ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ได้จนถึง 31 มีนาคม 2565 เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินและลูกหนี้มีเวลาเพียงพอในการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลในระยะยาว

          2.2 การใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อลดภาระต้นทุนสำหรับสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืน ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยวิธีที่นอกเหนือไปจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว

          2.3 การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 จากร้อยละ 0.46 ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

ที่มา: