ธปท.ช่วยลูกหนี้ฟื้นธุรกิจ

17 ส.ค. 2565 303 0

 

          คลอดสินเชื่อใหม่ ‘ปรับตัว’

          ธปท. เตรียมออกมาตรการใหม่ “สินเชื่อปรับตัว” คาดวงเงิน 6.5 หมื่นล้าน รองรับขอกู้ “เอสเอ็มอี” เพียงพอ หวังช่วยลูกหนี้ พลิกฟื้นธุรกิจหลังโควิด-19 ชี้ปัจจุบันมีลูกหนี้ขอเข้าโครงการช่วยเหลือพุ่ง เหตุต้นทุนพุ่ง

          นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ล่าสุด ธปท. เตรียมออกสินเชื่อเพื่อการปรับตัว เพื่อช่วยภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้สามารถปรับตัว หลังจากประคองธุรกิจจนผ่านวิกฤติโควิด-19 มาได้ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา หลักๆ เพื่อช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุนได้ เพื่อใช้พัฒนาเสริมศักยภาพธุรกิจ รองรับกระแสของโลกในระยะข้างหน้า ทั้งรับกับกระแสดิจิทัลเทคโนโลยี การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมแห่งอนาคต

          โดยสินเชื่อปรับตัว อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟู ของธปท. ซึ่งถือเป็นมาตรการระยะที่ 3 ของธปท. หลังจากระยะแรกมีการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ผ่านสินเชื่อซอฟท์โลน สินเชื่อฟื้นฟูมาแล้ว โดยกำหนดให้สินเชื่อไม่เกิน 150 ล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินซอฟท์โลนหรือสินเชื่อฟื้นฟูเดิมโดยสินเชื่อปรับตัวจะมีผลวันที่ 1 ก.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าวงเงินสินเชื่อ ที่เหลืออยู่ภายใต้พ.ร.ก. จำนวน 6.5 หมื่นล้านบาทจะเพียงพอปล่อยกู้

          ทั้งนี้ สินเชื่อปรับตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก ไม่เกิน 2% และ 5 ปีเฉลี่ยดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ขณะที่ปีที่ 6 จะเป็นไปตามที่ธนาคารพาณิชย์กำหนด เช่นเดียวกันกับมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ ที่เตรียม จะออกมาในช่วงก.ย.-พ.ย. เพื่อ ไกล่เกลี่ยหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อย ทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิตและเช่าซื้อ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ให้ได้รับการแก้ไขในอนาคต

          อย่างไรก็ตาม ยอมรับจากเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีลูกหนี้บางส่วน ขอรับการช่วยเหลือผ่านมาตรการช่วยเหลือธปท.มากขึ้น ทั้งลูกหนี้ ที่ออกไปแล้วกลับมาปรับโครงสร้างใหม่ และลูกหนี้ใหม่ ทำให้ลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการล่าสุด เดือนพ.ค. อยู่ที่ 3.84 ล้านบัญชี โดยมียอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.90 ล้านล้านบาท

          ดังนั้น มองแนวโน้มหนี้เสียในระยะข้างหน้า จะเห็นการทยอยเพิ่มขึ้นได้ แต่จะไม่เป็นหน้าผา เอ็นพีแอล จากการเข้าไปเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคาร จากไตรมาส 2 ที่หนี้เสียลดลงเหลือ 2.88% จากไตรมาสแรก 2.93%

          ส่วนผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ย เชื่อว่ายังไม่มี เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ ยังไม่มีการส่งผ่านดอกเบี้ย ซึ่งส่วนนี้ธปท. ก็ไม่ได้ห้าม ธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านดอกเบี้ย แต่อยากให้เป็นการทยอยปรับเพิ่มขึ้น เพื่อลดทอนผลกระทบ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ดูแลกลุ่มเปราะบางรายย่อย และธุรกิจเอสเอ็มอี

          อีกทั้ง มองการขึ้นดอกเบี้ยคงไม่กระทบลูกหนี้มากนัก เพราะส่วนใหญ่ 60% เป็นกลุ่มที่มีการฟิกซ์ อัตราดอกเบี้ย และอัตราการ ผ่อนชำระไว้แล้ว

 

ที่มา: