ธปท.จับตา5ปัจจัยเสี่ยง-การเมืองฉุดเศรษฐกิจ

02 พ.ย. 2563 554 0

          ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ผงกหัว ไตรมาสสุดท้ายจับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย ฟื้นช้า หวั่น “การเมือง” ฉุดความเชื่อมั่น-ธุรกิจลงทุน พร้อมติดตามนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่จะมีผลสำคัญต่อการฟื้นเศรษฐกิจ

          นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการ อาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 โดยเห็นการหดตัวน้อยกว่า 2 หลัก ตามมาตรการผ่อนคลายการปิดเมือง ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในเดือน ก.ย.ที่ภาพรวมเศรษฐกิจปรับดีขึ้นชัดเจน เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น และจากปัจจัยชั่วคราว

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ธปท.จับตาในระยะข้างหน้ามีอยู่ 5 ประเด็น คือ 1.พัฒนาการความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่น โดยหากมองย้อนเหตุการณ์ทางการเมือง ทุกครั้งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและการบริโภค ซึ่งประเด็นทาง การเมืองจะกระทบการบริโภคของไทยที่ปัจจุบันมีความเปราะบางค่อนข้างสูงจากไวรัสโควิด-19

          2.การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะเป็นส่วนสำคัญต่อการฟี้นตัวเศรษฐกิจ และอาจเป็นปัจจัยถ่วงรั้งการเติบโต โดยในเดือน ก.ย. ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังเป็นศูนย์ ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 จากประมาณการตัวเลข นักท่องเที่ยวทั้งปี 6.7 ล้านคน

          3.การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ในต่างประเทศที่จะเข้ามากระทบ เศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทย จากในเดือน ก.ย. ภาพรวมการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ -13.6% มาอยู่ที่ -3.7% ซึ่งปรับดีขึ้นทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับ อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ฟี้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง และได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้า และหมวดรถยนต์ที่เห็น การขยายตัวปรับดีขึ้น โดยเฉพาะยอดขาย รถยนต์ทั้งส่วนบุคคลและเชิงพาณิชย์

          4.การฟี้นตัวของธุรกิจยานยนต์ ทั้งการผลิตและส่งออก ต้องติดตามว่าการขยายตัวเป็นปัจจัยชั่วคราวหรือต่อเนื่อง โดยพิจารณาจาก 2 ส่วนหลัก คือ การให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่พบว่าแนวโน้มไตรมาส 4 มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น แต่สถาบันการเงินยังให้ความระมัดระวังการปล่อยกู้ และความต้องการจากต่างประเทศ

          และ 5.การฟี้นตัวของตลาดแรงงานและรายได้ภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นเครื่องจักรสำคัญของการฟี้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งตัวเลขในเดือน ก.ย.ปรับดีขึ้น แต่ยังคง เปราะบาง โดยตัวเลขผู้ขอรับสิทธิว่างงาน ตามสิทธิประกันสังคมอยู่ที่ 4.4 แสนคน (ณ เดือน ส.ค. 2563) ตัวเลขผู้ที่ทำงาน น้อยกว่า 4 ชั่วโมง และผู้ว่างงาน รวมกัน 3.3 ล้านคน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

          “แนวโน้มไตรมาส 4 หากไม่มีอะไรที่มาสะดุด ก็จะเห็นการฟี้นตัวต่อเนื่องได้ แต่เรายังมีสิ่งที่ต้องจับตามอง ทั้งการว่างงาน ที่มีคนรับสิทธิว่างงานระดับสูง รวมถึงประเด็นพัฒนาทางการเมืองที่ต้องติดตาม เพราะจะกระทบความ เชื่อมั่นต่อการลงทุนและการบริโภค หลังจากการบริโภคถูกกระทบตั้งแต่ช่วง โควิด” นางสาวชญาวดีกล่าว

          นางสาวชญาวดีกล่าวด้วยว่า การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ โดยขยายตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงปลายปีงบประมาณ ทั้งจากรายจ่ายประจำที่มีอัตราการเติบโต 5.9% และรายจ่ายลงทุน ในส่วนของรัฐบาลกลาง (ไม่รวมเงินโอน) ที่มีอัตราการเติบโต 46.5% และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 9.2% ส่วนด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อติดลบมากขึ้นจากหมวดพลังงานที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจาก 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ตามการส่งออกทองคำ

ที่มา: