ขึ้นค่าแรง450บาท/วันกระทบต้นทุน อสังหาฯ ชี้ราคาบ้านขยับแน่ ห่วงเงินเฟ้อพุ่งแนะทยอยปรับค่อยเป็นค่อยไป

31 พ.ค. 2566 218 0

          อสังหาริมทรัพย์

          ข่าวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตำเป็น 450 บาทต่อวันภายใน 100 วันแรกหลังการจัดตั้งรัฐบาล ใหม่แล้วเสร็จ ตามนโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนการเลือกตั้งเป็นอันดับ1และกลายเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มธุรกิจ และอุตสาหกรรมภาคการผลิตหลายๆ แห่ง ทยอยปลดพนักงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมตัวรับมือต้นทุนแรงงานและต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหากมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นตำในทันที

          ขณะที่อีกหลายๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งเพื่อการส่งออก ซึ่งประกาศเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย และยังมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่น่าดึงดูดไม่แพ้ประเทศไทย ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย ก็กังวลว่าต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงเป็น 450 บาท ต่อวันจะมีผลกระทบต่อราคาที่อยู่อาศัย และกำลังซื้อของ ผู้บริโภคที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟอที่จะตามมา

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า การจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวันทันทีที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐบาลแบบเป็นทางการ เพราะเป็น 1 ในนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง ซึ่งการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยอาจจะมีที่ตามมาหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะในด้านที่เป็นลบต่อคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มที่รับค่าแรงขั้นต่ำ และกลุ่มเจ้าของกิจการต่างๆ

          ค่าแรงขั้นต่ำเป็นอีก 1 ปัจจัยที่กำหนดค่าครองชีพของทุกประเทศ ทั้งในเรื่องของรายได้ของคนทำงาน และในเรื่องของค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเจ้าของกิจการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยในส่วนของฝั่งรายได้ของคนทำงานอาจจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรในทางลบมากนัก เพราะรายได้มากขึ้นก็ใช้จ่ายมากขึ้น แต่ในทางกลับกันในฝั่งของ ผู้ประกอบการเจ้าของกิจการต่างๆ เมื่อค่าใช้จ่ายด้านแรงงานมากขึ้นก็เป็นธรรมดาที่ต้องหาทางชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ด้วยเช่นกัน

          ดังนั้น การปรับเพิ่มของค่าแรงงานขั้นต่ำอาจจะมีผลให้ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้นแบบชัดเจน และได้รับผลกระทบทางลบโดยตรงต่อคนในวงกว้างมากกว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก็อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมาก็ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของสินค้าอุปโภค บริโภคที่ต้องใช้แรงงานคนในการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าอาหารรูปแบบต่างๆ ปรับเพิ่มราคาขึ้นแน่นอน

          สำหรับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การปรับเพิ่มของค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวันเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ประมาณ 328-354 ต่อวันแล้วแต่จังหวัด เป็นการเพิ่มขึ้นถึงวันที่ 100 หรือมากกว่า 100 บาท ซึ่งแน่นอนว่าในมุมของแรงงานก็เป็นผลดีแน่นอน แต่ในมุมของเจ้าของธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่เป็นผลดีแน่นอน ซึ่งถ้าการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำเริ่มชัดเจนมากขึ้นอาจจะได้เห็นการปิดกิจการของโรงงานที่ใช้แรงงานจำนวนมากแน่นอน

          เนื่องจากโรงงานที่รับผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานคนจำนวนมากอาจจะเลือกที่จะไปตั้งโรงงานที่ประเทศอื่นๆ ที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า หรือโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าจากต่างประเทศโดยมีฐานการผลิตในประเทศไทยแล้วรับออเดอร์คำสั่งการผลิตจากประเทศต่างๆ ก็อาจจะมีคำสั่งการผลิตสินค้าลดลงหรือหายไปเลย เพราะเมื่อค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่ม เจ้าของโรงงานก็จำเป็นต้องมีการปรับค่ารับจ้างการผลิตสินค้าต่างๆ มากขึ้น จนอาจจะไม่มีใครจ้างผลิตสินค้าอีกต่อไป โดยเหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเมื่อหลายปีก่อน

          ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อค่าแรงงานขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มขึ้นมีผลกระทบแน่นอน เพราะราคาวัสดุก่อสร้างทุกอย่างต้องปรับเพิ่มทั้งหมด เพราะมีการใช้แรงงานในการผลิตแน่นอนอยู่แล้ว รวมไปถึงการก่อสร้างโครงการต่างๆ ก็เช่นกันที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้ารัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นแบบทันทีเป็น 450 บาทต่อวันเท่ากับว่าปรับเพิ่มจากปัจจุบันที่อยู่ในช่วง 350 บาทต่อวันประมาณ 29% เป็นการปรับเพิ่มที่สูงมาก เพราะก่อนหน้านี้ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มประมาณ 4-6% ต่อปี ซึ่งเมื่อค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มแบบนี้ ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นทันที และสุดท้ายแล้วค่าบ้าน คอนโดมิเนียมจะต้องแพงขึ้นแน่นอน

          ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 ก็ปรับเพิ่มขึ้นไปประมาณ 5-10% ไปแล้ว ทั้งค่าแรงในระดับต่างๆ ก็อาจจะมีการปรับ เพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ ก่อนหน้านี้ก็ปรับเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันไปหลายรอบแล้ว นอกจากนี้ค่าเช่าในโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมก็ต้องปรับเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้น มากหรือน้อยแล้วแต่จำนวนแรงงานที่ใช้ในโครงการ

          แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอื่นๆ ก็อาจจะมีเพิ่มขึ้น ชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มนี้รวมไปถึงค่าแรงที่จ่ายให้กับแรงงานต่างชาติด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีจำนวนหลายล้านคนในหลายๆ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เพราะคนไทยเปลี่ยนไปทำงานที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมก่อสร้างเท่านั้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ที่อาจจะมีแรงงานต่างชาติในสัดส่วนที่มากขึ้น และสิ่งที่ต้องติดตามต่อในระยะยาว คือ ผลกระทบจากการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะส่งผลอะไรในระยะยาวหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าเมื่อปรับเพิ่มไปแล้วจะปรับลดลงมาอีกไม่ได้

          ด้าน นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า กรณีของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน จากที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 328-354 บาท/วันนั้น ต้องดูว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะช่วยแรงงานจริง หรือจะเป็นตัวถ่วง เพราะการปรับขึ้นค่าแรงมีผลกระทบแน่นอน ทั้งค่าครองชีพ เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นอย่างแน่นอน

          ขณะที่ นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI กล่าวว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น อยากให้รัฐบาลทยอยปรับขึ้น หรือปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าการปรับขึ้นแบบทันทีทันใด เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้โดยไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป  เช่น ปรับขึ้นจาก 350 บาท/วัน เป็น 400 บาท/วันไปก่อน ซึ่งนอกจากจะลดผลกระทบกับเจ้าของธุรกิจแล้ว ยังช่วยให้ปัญหาภาวะเงินเฟอไม่ร้อนแรงจน สุดท้ายแล้วภาระดังกล่าวจะกระทบทุกคน

          “อยากให้คำนึงในเรื่องของปัญหาเงินเฟ้อด้วย เพื่อไม่ให้มาเป็นภาระของเอกชนในภายหลัง โดยเฉพาะนโยบายทำทันทีปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450-600 บาท รวมถึงนโยบายชดเชยค่าโดยสารสาธารณะเพื่อลดราคาค่าโดยสาร เป็นต้น ซึ่งต้องชื่นชมเป็นนโยบายที่ดี แต่ทั้งนี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น” นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรกล่าว

          นโยบายปรับขึ้นค่าแรงใหม่ มีผลต่อราคาบ้านแพงขึ้น

          ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องค่าแรงที่พรรคที่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประกาศที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน ว่า เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม ต้องมีการคุยกัน ไม่ใช่เป็นของพรรคใดพรรคหนึ่ง ต้องไปตกผลึกกัน  และต้องมีภาคเอกชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการพิจารณาร่วมในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งผมก็บอกว่าเหมาะสม และรัฐบาลก็ต้องมีวิธีการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ และหามาตรการช่วยและชดเชยธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีผลกระทบ

          “ถ้าตอบแทนในนาม ศุภาลัย เราไม่มีปัญหา ค่าแรงเท่าไร เราก็ปรับขึ้นตามนั้น เรายอมปฏิบัติ แต่เราห่วงกลุ่มเอสเอ็มอี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการ เช่น ร้านอาหารที่ขนาดเล็ก โรงงานเล็กๆ ที่มีลูกจ้าง ตรงนี้ถ้าขึ้นค่าแรงแล้ว ธุรกิจรับ ได้หรือไม่ ก็เห็นว่า รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ แต่อย่างเร็วที่สุด กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ เรื่องค่าแรงคงไม่ทันปีนี้ ต้องรอปี 2567”

          “ยอมรับว่าหากค่าแรงขึ้น ราคาบ้านก็ต้องแพงขึ้น เนื่องจากการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย จะต้องพิจารณาในเรื่อง 1. ที่ดินปรับขึ้นตามความเจริญของระบบสาธารณูปโภค ตอนนี้ที่ดินหา ยากมากขึ้น 2. ค่าก่อสร้าง ที่ปรับขึ้นตามราคาของวัสดุก่อสร้าง ค่าขนส่ง และค่าแรงที่ปรับขึ้น ก็มีผลต่อราคาบ้านเช่นกัน”

          “ประทีป ตั้งมติธรรม “มองต่างหวัง” ศก.ไทย” ฟื้นดีขึ้น

          ดร.ประทีป กล่าวว่าถึงความเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) รวม 8 พรรคการเมืองว่า ผมอ่านรายละเอียดใน MOU ผมพอใจ ผมว่าดีและชัดเจนในเรื่องของการมีลงนาม MOU ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมี มั่วๆๆ แยกกระทรวงกัน และตนก็มองว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คงไม่น่าจะยืดเยื้อและเห็นแนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และมีความหวังทุกอย่างจะดีขึ้น และหวังต่อจากนี้ไป เรื่องคอร์รัปชันคงจะลดลง เรื่องการปฏิรูประบบราชการ

          ในเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่จะต้องดำเนินการนั้น ใน มุมส่วนตัวแล้ว ตอนนี้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวก็ดี เศรษฐกิจโลกก็ค่อยๆ ดีขึ้น การส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทุกอย่างเริ่มนิ่ง และหลายพรรคก็มีนโยบายที่จะเพิ่มกำลังซื้อ พัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น

          “ระยะปานกลางจะฟื้นตัว เศรษฐกิจดีขึ้น นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น รวมถึงการส่งออก ธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เคยซบเซาในช่วงโควิดก็เริ่มกลับเชื่อมั่นมากขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภคน่าจะดีตามไปด้วย ไม่ใช่ด้อยลง แต่มีอย่างเดียว ที่เพิ่มขึ้น คือ อัตราดอกเบี้ย แต่เรื่องพลังงาน ค่าไฟฟา เริ่มลดลง และไม่สูง ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างที่เคยสูงอยู่ก่อนหน้านี้ ก็เริ่มลดลงบ้าง”

          บริหารลูกค้ากู้ซื้อบ้าน ลดความเสี่ยงแบงก์ไม่ปล่อยกู้

          นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัยฯ กล่าวถึงสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารว่า ทางศุภาลัยมีการสื่อสารกับธนาคารตลอด มีการตรวจเช็กเครดิตลูกค้า แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า อย่างไรก็ดี ศุภาลัย ก็ได้หาวิธีที่จะช่วยเหลือลูกค้า โดยมีโปรแกรมให้กับลูกค้าในบางโครงการที่มีความต้องการซื้อที่อยู่กับของศุภาลัย แต่ยังไม่สามารโอนกรรมสิทธิ์ได้ ทางโครงการจะให้ลูกค้าเช่าอยู่และโอนกรรมสิทธิ์หลังจากลูกค้าปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยนำเงินค่าเช่ามาเป็นส่วนหนึ่งของเงินดาวน์

          “ยอดโอนกรรมสิทธิ์ของศุภาลัยปีนี้ แม้ไตรมาสแรกจะไม่มีโอนฯคอนโดมิเนียมใหม่ ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่า ไตรมาสแรกจะต่ำสุดของปีอยู่แล้ว แต่นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ไตรมาส 3 และไปจบไตรมาสสุดท้าย จะเริ่มมีตัวเลขที่มาจากการโอนฯ คอนโดฯ มุมนั้น ดีขึ้นแน่ ขณะที่ยอดโอนฯแนวราบ ก็เป็นไปตามเปาหมายที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง“นายไตรเตชะกล่าว

          สำหรับลูกค้าชาวจีนที่ซื้อโครงการของคอนโดฯของ ศุภาลัย ที่ค้างมา 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มเข้ามาโอนฯห้องชุดพอสมควร

 

ที่มา: