กุมขมับรับมือดอกเบี้ยขึ้นต้นทุนการเงินพุ่งเลี่ยงยาก
ทีมเศรษฐกิจ
“วิกฤติเงินเฟ้อ” ถือว่าเป็นปัญหาให้หลายประเทศทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางหลักในประเทศต่าง ๆ ได้ทยอยประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อแล้ว โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ซึ่งในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค.นี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขึ้น 0.75% และมีโอกาสขึ้นถึง 1% เพราะตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.ของสหรัฐพุ่งขึ้น 9.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี
นั่น...แสดงถึงเศรษฐกิจสหรัฐมีความร้อนแรงอย่างมาก จนผู้เล่นในตลาด รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างเป็นกังวลว่า หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงจนเกินไป อาจทำให้เศรษฐกิจสะดุดจนหยุดชะงักและชะลอลง ซึ่งมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง อาจกระทบกับเศรษฐกิจในอีกหลายประเทศ แต่ในเรื่องนี้อาจยกเว้น “ไทย” ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างแข็งแกร่ง
ขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ
แม้ในเวลานี้ไทยต้องประสบปัญหา “เงินเฟ้อสูง” เหมือนกับอีกหลายประเทศ แต่การันตีได้ว่า…ไทยมีเบาะรองรับแรงกระแทกได้มากพอที่จะรองรับวิกฤติได้ดี เห็นได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศปัจจุบันอยู่เกือบ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ หนี้ต่างประเทศก็ต่ำอยู่ระดับ 38.2% ต่อจีดีพีเมื่อสิ้นปี 64 และสภาพคล่องในประเทศมีสูง 4-5 ล้านล้านบาท เพียงพอรองรับวิกฤติและความเสี่ยงต่ำได้
แต่เมื่อเงินเฟ้อสูงเกินกว่าที่กรอบเป้าหมายกำหนดไว้ 1-3% และมีทิศทางที่ทะยานขึ้นไปเรื่อย ๆ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปล่อยไว้ไม่ทำอะไร อาจเกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจได้เช่นกัน ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ประกาศทิศทางนโยบายการเงินหลังจากนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้แนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกรวมถึงไทยมีทิศทางเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น!!!
คนกู้บ้านกระอักแน่
ดอกเบี้ยนโยบายจากแบงก์ชาติที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนการเงินของธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินสูงขึ้น และส่งผ่านไปยังต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจและประชาชนที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นก่อนอันดับแรก และถูกกระทบแน่นอนคือ ดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ดอกเบี้ยบ้าน” เพราะเมื่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลมายังดอกเบี้ยอ้างอิง บรรดาดอกเบี้ย “เอ็ม” ทั้งหลาย โดยสินเชื่อบ้านจะใช้ดอกเบี้ยที่เรียกว่า ดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือเอ็มอาร์อาร์ มาเป็นฐานคิดคำนวณดอกเบี้ยแก่ผู้กู้
ปัจจุบันดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อยู่ที่ 5.95-6.28% ส่วนธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อยู่ที่ 6.15% ธนาคารออมสินอยู่ที่ 6.245% แต่นี่ยังไม่ใช่ดอกเบี้ยที่นำมาคิดกับผู้กู้ เพราะขึ้นอยู่กับแคมเปญหรือโปรโมชั่นและวิธีคิดว่า จะนำฐานดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ลบด้วยเท่าไร ซึ่งธนาคารอาจนำเสนอได้ทั้งดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก หรือคิดดอกเบี้ยถูก ๆ ในช่วงแรกและหลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดขึ้นไป พอเฉลี่ยออกมา 3 ปีอาจอยู่ในอัตราที่ไล่เลี่ยกัน
รีไฟแนนซ์คือทางออก
แต่สิ่งที่ไม่เห็นแล้วในตอนนี้ คือ…การคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ของธนาคาร ที่ในอดีตมีการนำแคมเปญดอกเบี้ยบ้านแบบคงที่มานำเสนอเพื่อล็อกดอกเบี้ยไว้ 3 ปี เช่น คิดดอกเบี้ย 3% นาน 3 ปีแรก หลังจากนั้นอาจเป็นเอ็มอาร์อาร์ลบด้วย 1-2% เมื่อปล่อยลอยตัว คนก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่แพงขึ้น ซึ่งมักใช้วิธีรีไฟแนนซ์ทุก ๆ การผ่อนระยะ 3 ปี เพื่อคุมดอกเบี้ยให้จ่ายน้อยมากที่สุด และการรีไฟแนนซ์ยังเป็นวิธีที่ดีในการคุมดอกเบี้ยของผู้กู้ให้ถูกลง รวมถึงทำให้ตัดเงินต้นได้ไวขึ้น หมดหนี้เร็วขึ้นด้วย
แม้ดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก ได้หายไปจากตลาดแล้ว แต่ยังเห็นลูกเล่นใหม่ของธนาคาร เช่น คิดดอกเบี้ยต่ำใน 6 เดือน หรือ 1 ปีแรก และคิดแบบขั้นบันได เฉลี่ยออกมา 3 ปี อาจใกล้เคียงของเดิม เพื่อจูงใจให้คนเข้ามากู้บ้านต่อเนื่อง เชื่อเถอะ!! ว่า…ไม่มีทางที่ธนาคารจะปล่อยดอกเบี้ยให้ลอยตัวแบบเต็ม ๆ หรือขึ้นดอกเบี้ยแพง ๆ เพราะเกิดผลเสียต่อระบบให้สะดุดกระทบตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
แบงก์รัฐขอตรึงไว้ก่อน
“ฉัตรชัย ศิริไล” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้บอกถึงดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ว่า ธนาคารไม่สามารถใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ได้เหมือนในอดีต เพราะต้องบริหารจัดการเรื่องต้นทุนระหว่างเงินกู้และเงินฝากด้วย เมื่อปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้ต้นทุนทางการเงินธนาคารสูงขึ้น ดังนั้นการใช้ดอกเบี้ยแบบคงที่เหมือนที่เคยทำมาในอดีตจนเป็นที่นิยมนั้นอาจไม่สามารถทำได้ เพราะต้นทุนทางการเงินได้เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะดอกเบี้ยแต่ละช่วงเวลา
แต่หากแบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยนโยบายในรอบประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบเดือนส.ค.นี้ขึ้น 0.25% ยืนยันว่าธอส.จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านไว้ก่อน แต่หากแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในรอบการประชุมเดือน ต.ค. นี้ทาง ธอส.อาจต้องปรับขึ้นตามเพียงเล็กน้อยเพียง 0.15%
ดอกเบี้ยรถขึ้นรอแล้ว
นอกจากสินเชื่อบ้านแล้วอีกหนึ่งเงินกู้ ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้คือ “สินเชื่อรถ” เพราะผู้ให้บริการไฟแนนซ์ ที่เป็นนอนแบงก์มีต้นทุนทางการเงินเพิ่ม ทำให้การบริหารต้นทุน คือ จำต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เช่าซื้อรถ โดยเฉพาะคนกู้ใหม่ เพราะสัญญาจะเป็นฉบับใหม่ที่มีดอกเบี้ยแพงกว่าเดิม จากปัจจุบันดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์อาจอยู่ที่ 4-5% หากแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์ อาจปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และมีโอกาสที่ค่างวด อาจเพิ่มขึ้นได้บ้างเล็กน้อย
ส่วนคนกู้ หรือลูกหนี้เดิม อาจไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะดอกเบี้ยที่คิดจากสินเชื่อรถยนต์มักคิดคำนวณไปแล้วตลอดอายุสัญญา ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ แต่อาจมีบ้างมีบางผู้ให้บริการคิดแบบลดต้นลดดอก ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้กำหนดไว้ และในเวลานี้ได้เห็นบางไฟแนนซ์ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้รถอัตราใหม่รอรับดอกเบี้ยขาขึ้นไว้แล้วด้วยเช่นกัน
ดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นแต่ต่ำ
เมื่อขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ย่อมขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากด้วยเป็นของคู่กัน แต่ฝั่งดอกเบี้ยเงินฝากนั้นคนอาจรู้สึกได้น้อยกว่าฝั่งเงินกู้ เพราะถึงแม้ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากแต่ดอกเบี้ยที่ได้นั้น ยังถือว่าน้อย จากปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อยู่ที่ 0.25% ส่วนเงินฝากประจำ 3-24 เดือนอยู่ที่ช่วง 0.375-0.5% เท่านั้น แตกต่างจากช่วงก่อนโควิด-19 ที่ดอกเบี้ยออมทรัพย์เริ่มต้น 0.5% และเงินฝากประจำอยู่เกือบ 2% แต่ยังมีทางเลือกให้คนออมเงิน โดยธนาคารพาณิชย์มีแคมเปญพิเศษให้ดอกเบี้ยสูงเมื่อฝากเงินออนไลน์ในโมบายแบงก์กิ้งถึง 1.5-2% ต่อปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญกว่าดอกเบี้ยคือ…เงินที่นำไปฝากมีกันมากแค่ไหน? ในยามที่ค่าครองชีพพุ่ง ข้าวของแพง รายได้ยังไม่กลับมาฟื้นเต็มที่ ทำให้เงินที่นำไปฝากธนาคารโดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยจนถึงปานกลาง อาจมีไม่มาก เพราะต้องนำไปใช้หนี้และไว้ใช้จ่าย โดยข้อมูลจากแบงก์ชาติ ล่าสุด เมื่อ พ.ค. 65 พบว่า คนที่ฝากเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชีมีมากถึง 102 ล้านบัญชี แต่มีวงเงินฝากรวม 432,491 ล้านบาท แต่เทียบกับเศรษฐีที่มีเงินฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไปมีแค่ 1,578 บัญชีแต่กลับมีเงินฝากรวมแล้วถึง 2.64 ล้านล้านบาท
เอกชนแห่ออกหุ้นกู้
ไม่เพียงเฉพาะคนที่กู้เงินกับคนฝากเงินเท่านั้น แต่ภาคธุรกิจก็ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะต้นทุนการกู้ยืมเงินเพื่อนำไปลงทุนขยายกิจการ หรือเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการที่ขอกู้จากธนาคารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบรรดาผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กรายน้อย หรือเอสเอ็มอี เพราะจะคิดจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเอ็ม อาร์อาร์ หรือเอ็มแอลอาร์ ซึ่งมีโอกาสปรับขึ้นสูง จากปัจจุบันอาจคิดดอกเบี้ยช่วงปีแรก ๆ ที่ 3-5% ต่อปี แต่ทางรอดยังพอมีหวังเนื่องจากสินเชื่อฟื้นฟูที่เป็นมาตรการจากแบงก์ชาติยังพอช่วยได้ คิดดอกเบี้ยเพียง 2% ซึ่งขอสินเชื่อกับธนาคารได้จนถึงสิ้นปี 66
ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ อาจปรับตัวมีทางเลือกการระดมทุนได้เอง ในช่วงนี้อาจเห็นได้จากการที่ธุรกิจเอกชนใหญ่ ๆ ต่างเร่งออกหุ้นกู้ เพื่อหนีดอกเบี้ยที่กำลังจะเพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยหุ้นกู้ก็จูงใจคนซื้อที่เป็นนักลงทุนเงินเหลือเพราะมีผลตอบแทนที่สูง ตั้งแต่ 3-5% ต่อปี แถมเอกชนบางรายออกหุ้นกู้แบบชั่วนิรันดร์ ล็อกอัตราดอกเบี้ยไว้ระยะยาว แต่ที่สำคัญ!! ก่อนลงทุนก็ควรศึกษารายละเอียดหุ้นกู้และความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้น ๆ ให้ดีด้วย
“กาญจนา โชคไพศาลศิลป์” ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย บอกว่า จำนวนการออกหุ้นกู้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 18 ก.ค.65 มีหุ้นกู้เอกชนระยะยาวที่ออกใหม่ 329 รุ่น รวมวงเงิน 6.75 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าจะมีหุ้นกู้เอกชนระยะยาวทั้งปี 65 มากถึง 1.1-1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งค่อนข้างสูง และที่เห็นออกหุ้นกู้นานมากขึ้นจากเดิมอาจแค่ 1-2 ปี เป็น 3-4 ปี หรือชั่วนิรันดร์ ก็เริ่มเห็นกันมากขึ้น แต่ก็ต้องดูในเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาให้ชัดเจนด้วย เพราะอาจสามารถไถ่ถอนได้เมื่อถึงเวลาที่กำหนด
ไม่ขอฝืนกลไกตลาดแน่
แม้แต่นายแบงก์ และสวมหมวกประธานสมาคมธนาคารไทย อย่าง “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ต้องออกมายอมรับว่า หากแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารก็คงต้องปรับขึ้นเช่นเดียวกัน แม้ไปเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ แต่ก็เป็นต้นทุนให้ธนาคารเช่นกัน ยอมรับว่าเมื่อเป็นต้นทุนของธนาคารก็ไปฝืนระบบไม่ได้ จะปรับขึ้นช้า หรือเร็ว ก็อยู่ที่จังหวะและต้องมีผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการอย่างน้อยที่สุด เพราะถ้าไปฝืนกลไกตลาด จะเกิดการบอบช้ำของระบบได้
การขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางสถานการณ์ที่รายได้ครัวเรือนและภาคธุรกิจยังไม่ฟื้นกลับมาได้อย่างเต็มที่ อาจเกิดความเสี่ยงให้เศรษฐกิจสะดุด เพราะการใช้จ่ายของคนเริ่มลดน้อยถอยลงไป จากภาระการเงินที่มีมากขึ้น ทั้งหมด!! ต้องวัดใจคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ว่าจะหักปากกาเซียนหรือไม่!!
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์