ไฟเขียว7แบงก์ ขยายกู้ 1 แสนล้าน

30 มิ.ย. 2564 954 0

         ครม.เคาะแจกเงินเยียวยาลูกจ้างนายจ้างที่เจอปิดกิจการ 1 เดือน เพิ่มเป็น5,000 ล้านบาท เมื่อรวมเงินเยียวยาจากประกันสังคมด้วยเบ็ดเสร็จทั้งโครงการ 8,500 ล้าน โดยลูกจ้างได้เงินช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคน ส่วนนายจ้างได้ช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน แถมไฟเขียว 7 แบงก์รัฐ ขยายพักหนี้ 6 เดือนพร้อมยืดปล่อยกู้วงเงิน 1 แสนล้านต่อถึงสิ้นปี “ศธ.” ย้ำโรงเรียนเอกชนต้องยึดประกาศราชกิจจาฯ คืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้ผู้ปกครองด้าน ม็อบส้นสูง ร้องนายกฯ เยียวยา 5 พันต่อเดือน หลังสั่งปิดกิจการแต่ไม่เยียวยาแรงงานนอกระบบประกันสังคม

          ครม.เคาะเงินเยียวยา

          เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรีโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบในหลักการมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดควบคุมไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 25 ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคมและนอกระบบ ในกิจการก่อสร้างกิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการและกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ในระยะเวลา 1 เดือน

          ช่วยกลุ่มแรงงานม.33

          สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือ กลุ่มแรก คือแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้างตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพ.ศ. 2563 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวันสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกิน 90 วัน

          แจกเงินผู้ประกอบการ

          กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คนในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมแยกเป็น 3 กรณีคือ กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.64 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน

          กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนก.ค.เช่นกัน โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท และกรณีที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารเครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้างจะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.นี้

          เล็งช่วยเหลือเอสเอ็มอี

          ส่วนมาตรการอื่น ๆ ได้ขอให้กระทรวงการคลังทำโครงการต่าง ๆ ทั้งโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ขณะที่มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป ได้ขอเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็ม อีทั่วประเทศโดยให้กระทรวงแรงงานเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างมาลงทะเบียนในระบบประกันสังคมและให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประสานกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลัง เพื่อออกแนวทางการช่วยเหลือต่อไป

          รวมเบ็ดเสร็จ8,500ล้าน

          นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่าวงเงินที่ใช้ในการเยียวยาครั้งนี้ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมตามมติในที่ประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดวงเงินไว้ 4,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท จากพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท เพราะต้องเตรียมความพร้อมไว้รองรับกรณีที่อาจมีผู้เข้ามาในระบบมากขึ้นทั้งระบบประกันสังคม และลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นถุงเงิน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การช่วยเหลือเยียวยาส่วนนี้ ยังไม่รวมวงเงินช่วยเหลือผ่านกองทุนประกันสังคมที่ชดเชยจากมีเหตุสุดวิสัยในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวันซึ่งจะใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท เมื่อรวมเงินเยียวยาทั้งสิ้นของโครงการนี้อยู่ที่ 8,500 ล้านบาท

          ไฟเขียว7แบงก์รัฐพักหนี้

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ทั้งการพักหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือนจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ไปเป็น 31 ธ.ค. 64 นอกจากนี้ยังให้ขยายโครงการสินเชื่อต่าง ๆ ของแบงก์รัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบซึ่งมีวงเงินเหลือ 104,000 ล้านบาท ออกไปถึงสิ้นปีนี้ พร้อมกับขยายให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงเงินกู้ได้เช่น ร้านอาหาร โรงแรม นวดสปา บันเทิง โรงเรียน เป็นต้น

          เปิดมหกรรมแก้หนี้ครู

          ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้ออกโครงการช่วยเหลือลูกหนี้มาแล้ว 20 โครงการ เข้าถึงผู้เดือดร้อนไป 2 ล้านราย และตอนนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้อีก 1 ล้านราย โดยในส่วนของสินเชื่อครู ขณะนี้ได้เปิดมหกรรมแก้หนี้ให้แล้ว ซึ่งมีครูสมัครเข้ามา 2หมื่นราย โดยจะพิจารณาช่วยเหลือพักหนี้ให้สูงสุดถึง 2 ปี ถึง 2 ปีครึ่ง

          ศธ.ย้ำโรงเรียนเอกชน

          ทางด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยหลังประชุม ครม. ว่าที่ประชุมเห็นชอบหลักการมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้เป็นกรอบมาตรการในการช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่องนี้โรงเรียนเอกชนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มการช่วยเหลือด้วยเพราะโรงเรียนเอกชนได้รับผล กระทบ มีความจำเป็นต้องหาแหล่งเงินกู้ เช่น ธนาคารต่าง ๆ มาให้โรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหาได้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำในวงเงินที่สูงมากขึ้น เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน

          ต้องคืนค่าธรรมเนียม

          รมว.ศธ. กล่าวว่า สำหรับการเรียกคืนค่าธรรมเนียมการศึกษา ของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ที่ไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนจริง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้น ตนได้รับรายงานว่าสถานศึกษาหลายแห่งมีการทยอยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ปกครองแล้ว ส่วนกรณีมีผู้ปกครองที่ยังไม่ได้รับการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาจากโรงเรียน ส่วนใหญ่พบเป็นโรงเรียนเอกชนนั้น ศธ.ขอให้โรงเรียนยึดตามราชกิจจานุเบกษาเรื่องประกาศกระทรวงศึกษาธิการ การกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดทำประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชน เพื่อให้การจัดทำประกาศค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชนในระบบเป็นไปในแนวทางที่กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนกำหนด มิให้เป็นการแสวงหากำไรเกินควรหรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร เกิดความโปร่งใสและสร้างความเป็นธรรม

          “ม็อบส้นสูง“ร้องเยียวยา

          ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทันตา เลาวิลา วัณยกุล  ผู้ประสานงานกลุ่ม Empower Thailand พร้อมด้วยตัวแทนพนักงานบริการในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ และพนักงานบริการอิสระออนไลน์ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ผ่านนายสมภาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้เยียวยาช่วยเหลือเป็นเงินจำนวนเงิน 5,000 บาทต่อเดือน จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเปิดร้านตามปกติ และผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ เนื่องจากคำสั่งที่ประกาศปิดสถานบันเทิง ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและและธุรกิจบันเทิง ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง โดยไม่มีมาตรการเยียวยาออกมา ไม่ครอบคลุมแรงงานที่ไม่มีประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวันเช่น นักดนตรี พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ พนักงานเชียร์สินค้า พนักงานโบกรถ พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดกลางคืน และร้านอาหารข้างทางต่าง ๆ เป็นต้น

ที่มา: