ไฟเขียวกรอบเงินเฟ้อปี 65 คลัง-ธปท.วางเป้า 1-3% รองรับโควิดยืดเยื้อ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 ระหว่าง 1-3% ขณะที่กระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองแนวโน้มยังอยู่ในระดับต่ำต่อไปจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2565 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 สรุปได้ดังนี้ คือกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับปี 2565
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน กนง. ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2565 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้
สำหรับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เศรษฐกิจโลกและไทยได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่มีความยืดเยื้อ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาและในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน
โดยมีปัจจัยสำคัญคือ
1.กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงเป็นวงกว้างตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจทำให้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
2.รายได้และกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับต่ำจากตลาดแรงงานที่มีความเปราะบางตามการเพิ่มขึ้นของผู้ว่างงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เเละ
3.ราคาสินค้าที่ปรับลดลงจากพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งจากการแข่งขันด้านราคาผ่านธุรกิจ e-commerce และต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (Automation) มากขึ้น
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อไทยในอนาคตอาจจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด การเกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) และการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นได้
สำหรับการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2565รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายที่ยังมีความเหมาะสมภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น