โควิดบูมตลาดบ้านมือสอง

02 ก.ย. 2564 747 0

          นายประวิทย์ อนุศิริ นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึง ทิศทางของตลาดบ้านมือสองว่า ท่ามกลางซัพพลายที่อยู่อาศัยหลักมีภาวะความเสี่ยงล้นตลาดนั้น แต่กลับเห็นสัญญาณเร่งตัวในตลาดบ้านมือสองเพิ่มขึ้นมา

          ซึ่งอาจแย้งกับคาดการณ์ของหลายฝ่าย โดยเหตุผลนั้นมาจากคนส่วนมาก มองภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ไม่ครบมิติ ต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยไทยอ้างอิงภาพจากผู้ประกอบการนักพัฒนาที่ดิน ที่มีเงินทุนในการโฆษณา และ 2. พิจารณาจากหนี้เสีย NPA และ NPLที่อยู่ในสถาบันการเงินเป็นหลัก ขณะในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะมองภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ จากบ้านมือสองเป็นหลัก และเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา โตขึ้นมากในรอบ 20 ปี ในช่วงยุคของโควิด-19

          สำหรับตลาดบ้านมือสองในประเทศไทยขณะนี้ นายประวิทย์ เปิดเผยว่า ตลาดเติบโตขึ้นอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้ มีทั้งผู้ซื้ออยู่อาศัย และซื้อเพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้จากข้อมูลจากกลุ่มนายหน้า ขณะเดียวกันพบบริษัทประเภท AMC ที่เรียกว่า Asset management  Corporation มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ของอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยสิ่งที่น่าจับตามอง คือ กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอสังหาฯมากขึ้น รวมถึงกลุ่มบ้านมือสองด้วย

          “ข้อมูลอ้างอิงจากผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ลงทุนรายย่อยเพิ่มถึง 800,000คน คิดเป็นอัตราขยายตัวถึง 45% (จากเดิม1.8 ล้านคน เป็น 2.6 ล้านคน) สูงสุดในรอบหลายสิบปี โดยเป็นนักลงทุนรายย่อยอายุ 20-30 ปี  ส่วนในตลาดบ้านมือสองมีคนอายุ 20-30 ปี ซื้อบ้านมากขึ้น”

          นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า หากจะระบุถึงปัจจัยหลักที่ทำให้คนมาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและลงทุนมากขึ้น น่าจะมาจาก 1.อัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ในอัตราต่ำมายาวนานอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุจูงใจ  2.สภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างถดถอย สถาบันการเงิน ต้องลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อในภาคอื่นๆ หันมาปล่อยในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น 3.มาตรการประกันเงินฝากที่เหลือเพียงหนึ่งล้านบาทของสถาบันการเงินทำให้เงินออกมาในตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น 4.ระยะเวลาปล่อยสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัยยาวขึ้น 30 ปี หรือมากกว่า ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาลงทุนที่อยู่อาศัยที่ผ่อนถูกกว่าเช่า 5.มาตรการ WFH ช่วงโควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น สามารถค้นหาและศึกษาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น และ  6.เทคโนโลยีที่พัฒนาไปเร็วมากๆ ช่วงยุคโควิด ช่วยได้มากในการค้นหาและศึกษา  อสังหาริมทรัพย์ สามารถเข้าถึงคนซื้อ-คนขาย ได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้น สิ่งที่ตัวแทนการขาย หรือ นายหน้า ต้องเตรียมความพร้อม คือ การเร่งพัฒนาความรู้ให้เท่าทันในตลาด โดยเฉพาะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และเรียนรู้ภาษาการสื่อสาร เพื่อรองรับลูกค้าจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

          ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ตรวจสอบ ข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ กลุ่มที่อยู่อาศัยมือสอง ณ ช่วงครึ่งปีแรก 2564 พื้นที่ กทม.-ปริมณฑล  มีทั้งสิ้น 34,258 หน่วย จากหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งหมด (มือหนึ่งและมือสอง) ราว 120,023 หน่วย มูลค่า 377,520 ล้านบาท โดยพบช่วงไตรมาส 2 บ้านมือสองมีอัตราขยายตัวเร่งขึ้นมา 15.4% สวนทางตลาดบ้านมือหนึ่ง ขณะมูลค่ารวมครึ่งปีแรก 86,359 ล้านบาท ขยายตัวทั้งไตรมาสแรกและไตรมาส 2

          “ขณะที่อยู่อาศัยหลักมีภาวะความเสี่ยงล้นตลาดนั้น แต่กลับเห็นสัญญาณเร่งตัวในตลาดบ้านมือสองเพิ่มขึ้น”

ที่มา: