แบงก์ เร่งช่วยลูกหนี้พื้นที่เสี่ยง
ยอดสินเชื่อ 28จังหวัด 13.83 ล้านล้าน กว่า80%จากทั้งระบบ
“ทีเอ็มบี"แนะเร่งเข้าดูแลปรับโครงสร้างหนี้ หวั่นเป็นเอ็นพีแอล
“ทีเอ็มบี” เปิดยอดการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่ควบคุมโควิดสูงสุด 28 จังหวัด รวม13.83 ล้านล้าน คิดเป็น 86% ของสินเชื่อทั้งหมด จำนวนลูกหนี้ที่ 19.01 ล้านรายพบเป็นรายย่อย-เอสเอ็มอีพุ่งแนะแบงก์ -นอนแบงก์เร่งเข้าดูแลปรับโครงสร้างหนี้ หวั่นเป็นหนี้เสีย ด้านธปท. หวั่นครัวเรือนเปราะบางเพิ่ม เร่งแบงก์ช่วยเร่งด่วน
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ เชื่อว่ายิ่งซ้ำเติมลูกหนี้ให้มีความเปราะบาง มากขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ในพื้นที่ควบคุมโควิด-19 ใน 28 จังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้จากการสำรวจการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ในพื้นที่ 28 จังหวัด มียอด ให้สินเชื่อรวมราว 13.83 ล้านล้านบาทหรือ ราว 86.11% ของสินเชื่อทั้งระบบ ที่ 16.06 ล้านล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ 19.01 ล้านราย จากจำนวนลูกหนี้ทั้งระบบ 22.04 ล้านราย แบ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ตราด สมุทรสาคร จันทบุรี มียอดการให้สินเชื่ออยู่ที่ 7.41 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ โดยมีลูกหนี้จำนวน 7.9 แสนคน
ซึ่งหากดูกลุ่มที่มีการใช้สินเชื่อ มากที่สุดในพื้นที่ดังกล่าวพบว่า เป็นกลุ่ม รายย่อยมากที่สุด 52% หรือ ลูกหนี้ 6.64 แสนคน คิดเป็นมูลหนี้ราว 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นหนี้เฉลี่ย ต่อหัวต่อลูกหนี้อยู่ที่ราว 5.7 แสนบาทต่อคน ขณะที่เอสเอ็มอีมีราว 1.26 แสนคน การให้สินเชื่อที่ 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้เฉลี่ย 1.9 ล้านบาทต่อราย
ขณะที่ลูกหนี้ในพื้นที่ที่มีการควบคุม สูงสุด 23 จังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ฯลฯ พบว่า มีจำนวนลูกหนี้ถึง 18.2ล้านคน หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อรวมที่ 13.09 ล้านล้านบาท มากที่สุดคือ ลูกหนี้รายย่อย ที่มีราว 17.2 ล้านคน หรือคิดเป็นสินเชื่อราว 3.4 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ เอสเอ็มอี 8.66 แสนคน หรือ 2.5 ล้านบาท ซึ่งแยกดูหนี้ต่อหัว ต่อลูกหนี้ พบว่ารายย่อยเป็นหนี้เฉลี่ย 1.98 แสนบาทต่อคน ขณะที่เอสเอ็มอี อยู่ที่ 2.8 ล้านบาทต่อราย
ส่วนสินเชื่อในพื้นที่ควบคุม พบว่ามีจำนวนลูกหนี้อยู่ที่ราว 7.38 แสนราย หรือ 5.23 แสนล้านบาท และพื้นที่ เฝ้าระวัง มีลูกหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ 2.2ล้านราย และมีจำนวนหนี้รวมอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากดูรายละเอียด รายกลุ่มพบว่า เป็นรายย่อย ถึง 20 ล้านคน หรือคิดเป็นสินเชื่อราว 4.9 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ เอสเอ็มอีที่ 1.5 ล้านราย หรือ 3.5 ล้านล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่ ราว 1.13 แสนราย หรือคิดเป็นสินเชื่อ ราว 7.5 ล้านล้านบาท (ทั้งนี้ข้อมูล ลูกหนี้ในข้างต้น อาจมีการนับซ้ำ เนื่องจากลูกหนี้บางราย อาจมีการกู้หลายสถาบันการเงิน)
นายนริศ กล่าวว่า หากดูข้อมูล ลูกหนี้และจำนวนสินเชื่อในข้างต้น ถือว่าน่าห่วง ที่สถาบันการเงิน นอนแบงก์ ต้องเร่งเข้าไปดูแล และต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ และให้ลูกหนี้เข้ามาตรการช่วยเหลือ โดยเร็ว หากลูกหนี้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจที่มีความเปราะบางด้านรายได้ และมีภาระการชำระหนี้สูง อาจทำให้มีความเสี่ยงที่ลูกหนี้อาจเป็นหนี้เสียได้ในอนาคต
ด้านนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากโควิด-19 รอบใหม่คาดว่าจะมี ผลกระทบต่อแรงงาน ในพื้นที่สีแดง ราว 4.7 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน และอาชีพอิสระ จากรายได้และชั่วโมงการทำงานลด ดังนั้นคาดว่ามีราว 1.2 ล้านคน ที่อาจกลายเป็นผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานน้อยกว่า 24 ชั่วโมง
ดังนั้นในมุมของลูกหนี้ จากผลกระทบ โควิด-19รอบใหม่ เชื่อว่า อาจมีความสามารถรับแรงกระแทกจากผลกระทบ ลดลง ภายใต้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ใน ระดับสูงในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภค และการฟื้นตัวระยะ ข้างหน้าได้ ดังนั้นกลุ่มเหล่านี้จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาช่วยพยุง และต้องหาผู้ได้รับผลกระทบให้เจอ และช่วยลูกหนี้ให้มากที่สุด
‘ออมสิน‘ปรับเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อ
“ออมสิน” ปรับเกณฑ์ ปล่อยสินเชื่อ หันใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แทนกระแสเงินสด เพื่อช่วยเหลือประชาชน-ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดให้เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ ปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ในภาวะวิกฤติโควิด-19 โดยใช้เกณฑ์หลักทรัพย์ ค้ำประกันแทนการพิจารณาจากกระแสเงินสด เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่มีปัญหาสภาพคล่องในช่วงนี้ เพราะการวิเคราะห์รายได้ของผู้ขอกู้คงไม่สามารถใช้ได้ไปอีก1-2ปีข้างหน้า เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด -19 จำเป็นต้องหยุดชั่วคราว ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ ของประชาชนและผู้ประกอบการ ดังนั้น หากไม่ปรับเกณฑ์ ลูกหนี้ก็อาจไม่สามารถเข้าสินเชื่อได้ สุดท้ายอาจกลายเป็นหนี้เสีย ของธนาคารได้
สำหรับการดูแลหนี้เสียนั้น ธนาคารเชื่อมั่นว่า จะสามารถบริหารจัดการหนี้เสีย ให้อยู่ในเป้าหมายไม่เกิน4%ภายในปีนี้และเพื่อสร้างความมั่นคงธนาคาร จะมีการเพิ่มสำรองเพิ่มเติมด้วย เพื่อรองรับหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แม้จะส่งผลให้กำไรของธนาคารลดลง แต่ธนาคารก็จะแข็งแรงมากขึ้น
ส่วนการให้สินเชื่อ ในโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ โดยมีรถยนต์เป็นหลักประกัน โดยการลดดอกเบี้ยลงเหลือ 18% จากอัตราดอกเบี้ย ในตลาดที่ 24-28% รวมถึงการให้สินเชื่อ เอสเอ็มอี ที่นำที่ดินมาค้ำประกัน ดอกเบี้ย 5.99% ต่ำกว่าตลาดที่คิดดอกเบี้ย 15-30% เชื่อว่าไม่กระทบทำให้ธนาคารขาดทุน ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาเอสเอ็มอีมีการขอกู้ค่อนข้างมาก เต็มวงเงิน 5พันล้านบาท ทำให้ธนาคารต้องเพิ่มวงเงินอีก 5พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ