แบงก์ อั้นดอกเบี้ยอุ้มลูกหนี้
นักเศรษฐศาสตร์ฟันธงกนง.ขึ้น0.25% แรงกดดันเงินเฟ้อ-พลังงานแผ่ว
“กสิกรไทย” ห่วงลูกค้า “ทีทีบี” ชี้ รายใหญ่ ขยับก่อนกลุ่มแรก
“แบงก์พาณิชย์” อั้น ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลูกค้า “กสิกรไทย” ลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้น “แบงก์กรุงเทพ” ย้ำนโยบายดอกเบี้ยกระทบลูกค้าน้อยที่สุด “ทีทีบี” ชี้ รายใหญ่เป็นกลุ่มแรกที่แบงก์จะขึ้นดอกเบี้ย ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ฟันธง กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% “กอบศักดิ์” มองเป็นระดับที่เหมาะสม
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (10 ส.ค. 65) ถือเป็นวันชี้ชะตา ทิศทาง “อัตราดอกเบี้ยไทย” ว่าจะปรับทิศทาง ไปสู่ “ดอกเบี้ยขาขึ้น“หรือไม่ หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลายความกังวล ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น จากการเปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับมาเป็น “แรงหนุน“สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ออกมาส่งสัญญาณต่อเนื่อง ว่าพร้อมปรับดอกเบี้ยไปสู่ “สภาวะปกติ” แล้ว
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หากกนง. มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นวันนี้ (10 ส.ค.) ทางธนาคารกสิกรไทยก็ต้องกลับมา พิจารณา ดอกเบี้ยของธนาคารด้วย ว่าจะ ปรับเปลี่ยนหรือไม่ แต่ภายใต้ที่ลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่ ยังลำบาก และได้รับผลกระทบ จากโควิด-19 อยู่ ทำให้ยังสามารถไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นได้ในรอบแรก
ทั้งนี้ หากไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นก็ต้องไม่ปรับขึ้นทั้งสองขา ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่งั้นจะเป็นการผลักภาระให้แบงก์ ส่วนลูกค้าเงินฝาก อาจต้องมาพิจารณา ว่าในส่วนดอกเบี้ยเงินฝากประจำ หรือพิเศษ จะปรับขึ้นอย่างไรได้บ้าง
“หากกนง.ขึ้นดอกเบี้ย เรายังทนได้สักรอบ แต่หากขึ้น 2 รอบเราคงอั้นไม่ไหว แต่หากเราไม่ขึ้น ก็อย่าบังคับให้ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากด้วย ต้องคงสองขา ทุกอย่างถึงสมดุล ที่มองว่าเราอั้นหรือทนได้ แม้กนง.ขึ้นดอกเบี้ย เพราะเราอยากช่วยเหลือลูกหนี้เพราะบางส่วนยังลำบากอยู่”
ต้องกระทบลูกค้าน้อยที่สุด
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า สำหรับแนวทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพนั้น จะพยายามดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด โดยให้มีผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อสนับสนุนลูกค้า รวมถึงต้องรอดูภาพรวมตลาดและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกมาเป็นอย่างไร
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กล่าวว่า หากกนง.ขึ้นดอกเบี้ยวันนี้ ส่วนของแบงก์ จำเป็นต้องดูทิศทางของแบงก์ใหญ่ ว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับแบงก์ในระบบ แต่มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะขึ้นแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ไม่ขึ้นแบบพรวดพราดรวดเร็ว
ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องกลับมาพิจารณา ว่าหากมีการขึ้นดอกเบี้ย จะ “ส่งผ่าน” ในส่วนไหน ก่อนหลัง ซึ่งมองว่าปัจจุบัน ลูกค้ารายใหญ่เป็นกลุ่มที่ต้นทุนต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะที่ผ่านมาธุรกิจขนาดใหญ่ มีต้นทุนต่ำเกินจริง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ธุรกิจรายใหญ่เริ่มเห็นทิศทางนี้ และเตรียมพร้อมโดยเริ่มมีการล็อกต้นทุน เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นกลุ่มธุรกิจรายใหญ่จะเป็นกลุ่มแรกที่แบงก์จะขึ้นดอกเบี้ย
ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มรายย่อย เป็นกลุ่มที่แบงก์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นหากมีการส่งผ่านดอกเบี้ยเร็วเกินไป ก็อาจเป็นภาระต่อลูกหนี้กลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ในช่วงที่เผชิญกับเงินเฟ้อระดับสูง ดังนั้นการส่งผ่านดอกเบี้ยไปสู่กลุ่มนี้อาจช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ท้ายที่สุด ระยะยาวคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าดอกเบี้ยก็คงต้องขึ้นทั้งกระดานตามทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น
“มองว่าการปรับอัตราดอกเบี้ย ทั้งเงินกู้และเงินฝาก โดยภาพรวมน่าจะทยอยขึ้นบางตัวเท่านั้น เช่นเงินฝากประจำพิเศษ ที่อาจปรับขึ้น”
LHพร้อมปรับดอกเบี้ยตามตลาด
นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) กล่าวว่า ทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารนั้น มองว่า ธนาคารต้องรอดูกนง. และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 4 แห่งเป็นอย่างไร หาก 4 ธนาคารใหญ่ไม่ได้มีการปรับธนาคารก็จะยังไม่ปรับตาม และยังไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้มองว่ากนง.คงไม่ปรับดอกเบี้ยเร็วและแรงเกินไป โดยคาดจะปรับดอกเบี้ยราว 0.50-0.75%
“เราคงต้องรอดูกนง. และดูทิศทางของเพื่อน ซึ่งหากดูภาพใหญ่ของตลาด เชื่อว่าหลายธนาคารยังไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นในทันที ซึ่งหาก 4 ธนาคารใหญ่ไม่ปรับ เราก็ยังคงไม่ปรับ เพราะลูกค้าเราก็ยังมีอีกมากที่ต้องช่วยเหลือ แต่เวลากนง.ขึ้นดอกเบี้ย ราว 60% จะขึ้นตาม แต่ไม่ขึ้นมากเท่าเรทของกนง. และหากปรับคงต้องปรับ 2 ขา”
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า หากกนง.ปรับดอกเบี้ยขึ้น ในส่วนของแบงก์ ก็ต้องดูทิศทางแบงก์ใหญ่ ว่าเป็นอย่างไร ดอกเบี้ยแบงก์ก็คงเป็นไปตามทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากขึ้นดอกเบี้ย ก็ต้องขึ้นทั้งสองขา
ดอกเบี้ยเริ่มใกล้ช่วงต้มยำกุ้ง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า เชื่อว่าระดับเหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ย ภายใต้เงินเฟ้อที่ลดแรงกดดันลดลง และมีความเสี่ยงเกิดภาวะถดถอยของโลก การขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ครั้งนี้ และ ขึ้น 0.25% ใน 2ครั้งที่เหลือเป็นระดับที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.50% รอบนี้ก็สามารถเป็นไปได้ เพื่อเร่งเครื่องดอกเบี้ยไปสู่ระดับปกติเร็วขึ้น ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.25% ในสิ้นปีนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นดอกเบี้ยมาใกล้เคียงระดับปกติ ซึ่งถือว่าระดับดังกล่าว เป็นระดับต่ำสุดในช่วงต้มยำกุ้ง แต่หากจะเห็นดอกเบี้ยไปสู่ระดับปกติ หรือ Neutral Zone คือ 2.50% ซึ่งก็ต้องมาดูว่าปีหน้าจะไปสู่จุดดังกล่าวได้หรือไม่ ภายใต้การประเมินทิศทางเงินเฟ้อว่าจะลดลงได้หรือไม่
ไม่จำเป็นขึ้นดอกเบี้ยแรง
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมกนง.วันนี้คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% จากการเปิดประเทศ ที่หนุนให้กิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้น ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะข้างหน้าอาจเพิ่มขึ้นได้
โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ ยังมีรายได้ต่ำ กว่าระดับก่อนโควิด-19 สะท้อนกำลังซื้อที่ยังเปราะบาง และการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง หากกนง.ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว คาดว่าจะรองดูทิศทาง ก่อนจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในรอบต่อไป
“เรามองว่าหลังจากนี้จะเห็นกนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งใน 2 ประชุมที่เหลือ เพราะความเสี่ยงเริ่มมีชัดเจนขึ้น ดังนั้นกนง.อาจรอผลของการขึ้นดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจไปต่อ ก็ขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่หากแย่ก็ต้องลงดอกเบี้ยอีก ดังนั้นแล้วการค่อยๆขึ้นจะดีกว่าขึ้นเร็วเกินไปเพราะความเสี่ยงเศรษฐกิจยังมีอยู่มาก”
จุดเริ่มต้นดอกเบี้ยไทยสู่ภาวะปกติ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยไทยถือว่าขยับช้ากว่าประเทศอื่น ในขณะที่ไทยเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อสูง ดังนั้นประเมินว่าการประชุมกนง.รอบนี้อาจขึ้นดอกเบี้ย แต่มองว่าการประชุมครั้งนี้อาจเสียงแตก เพราะ อาจมีทั้งคณะกรรมการที่มองว่าขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% และบางคนอาจมองว่าควรขึ้น 0.50% เพราะการประชุม กนง.อีกรอบห่างกันค่อนข้างนาน
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่กนง.มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% แม้กรณีฐานที่ KKP มองว่ามีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เพราะปัจจุบันแรงกดดันเงินเฟ้อลดลง และค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น แต่วันนี้ยังมีแรงกดดันใหญ่ๆ 2 ด้าน คือการจ้างงานสหรัฐที่ออกมาดี ทำให้จากเดิมคนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น และอาจเห็นสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยต่อไปใกล้ 4% เหล่านี้เป็นแรงกดดันต่อเนื่อง ต่อทิศทางของดอกเบี้ยโลก ดังนั้นมองว่า อัตราดอกเบี้ยของไทย จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับดอกเบี้ยไปสู่ภาวะปกติมากขึ้น
“ช่วงที่เหลือปีนี้มองว่าแบงก์ชาติยังขึ้นดอกเบี้ยต่อครั้งละ 0.25% และเห็นทิศทางดอกเบี้ยขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และวันนี้เชื่อว่าแบงก์ชาติกำลังสู้กับตัวเอง ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทนต่อแรงกดดันเงินเฟ้อได้หรือไม่ สิ่งที่แบงก์ชาติกลัวคือกระทบต่อคนกู้ภายใต้หนี้ครัวเรือนสูง และอาจมีการขอความร่วมมือแบงก์ไม่ให้ปรับดอกเบี้ยมากนักด้วย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้”
อย่างไรก็ตาม แม้ ทิศทางเงินเฟ้อทั่วไปลดลง แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปัจจุบันอยู่ใกล้ขอบบนที่ 3% ใกล้กับกรอบเงินเฟ้อ ที่ 1-3% ดังนั้นแม้ขึ้นดอกเบี้ยขึ้นไปที่ 1% ก็ยังต่ำกว่าเงินเฟ้อค่อนข้างมาก ดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบอยู่มาก
กนง.เสียงแตก4ต่อ3เสียง
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า คาดการประชุม กนง. ครั้งนี้จะเสียงแตกในการขึ้นดอกเบี้ย 4 ต่อ 3 เสียง โดยคาดขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ที่ 4 เสียงและ 0.50% ที่ 3 เสียง ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ เป็นโจทย์ยากสำหรับกนง.
อย่างไรก็ตาม CIMBT มองว่ากนง.จะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยยังโตแบบไม่กระจายตัว การท่องเที่ยว ส่งออกขยายตัวได้ดี แต่ภาคเกษตรยังอ่อนแอ และเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นหากเทียบกับระดับก่อนโควิด แต่สัญญาณของราคาน้ำมันที่ลดลง สะท้อนว่าเงินเฟ้อระยะข้างหน้าอาจไม่ไหลแรงมากนัก ดังนั้นความจำเป็นในการใช้ยาแรงอาจลดลง
แต่จุดสำคัญ คือการประชุมกนง.ในเดือนก.ย. หากสภาพคล่องในระบบสูง เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง อาจมีความจำเป็นที่กนง.ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรง เพื่อสกัดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อีกทั้งเงินเฟ้อสูงยังคงมีอยู่ต่อเนื่องถึงปีหน้า ดังนั้นยังต้องระวัง ดังนั้นมองว่ากนง.มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้ 0.50% ในรอบนี้ได้ ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยแบบกระชากยังคงมีอยู่
ขึ้นดบ.0.25%ส่งผ่านดอกเบี้ยได้ราบรื่น
นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% เพราะแบงก์ชาติมีการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งจำเป็นต้องรอดูการส่งผ่านนโยบายการเงิน ของธนาคารพาณิชย์ด้วย เพราะหากขึ้นแรง ก็คงมีผลกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นมองว่าระดับที่ 0.25% เป็นระดับที่จะช่วยให้แบงก์สามารถส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยได้ราบรื่นมากกว่า
อีกทั้งปัจจุบันแรงกดดันค่าเงินบาทลดลง อีกทั้งเงินเฟ้อเดือนส.ค.ก็น่าจะลดลงหากเทียบกับก.ค.และมิ.ย.เพราะราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นองค์ประกอบทุกอย่างทำให้กนง.ไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ประเมินว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ย ทั้ง3ครั้งในการประชุมครึ่งปีหลังนี้ ที่ 0.25% ทำให้กลางปีดอกเบี้ยจะไปใกล้ 2% ดังนั้นมองว่าการประชุม 6 ครั้งถึงกลางปีหน้า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยทุกรอบการประชุมที่ 0.25%
ลุ้นก.ย.กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแรง
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี กล่าวว่า ประเมินกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และโอกาสเห็นกนง.ขึ้นดอกเบี้ยก.ย. ที่ 0.50% ได้ เพราะหากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส2 ออกมาดี เศรษฐกิจปรับตัวดีต่อเนื่อง และแนวโน้มนักท่องเที่ยวปีนี้สู่ระดับ 8 ล้านคน อาจทำให้กนง.ขึ้นดอกเบี้ยได้แรงขึ้นได้ แต่กรณีพื้นฐานยังประเมินดอกเบี้ยสิ้นปีอยู่ที่ 1.25%
“การขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% เพื่อรอดูตลาด เพราะวันนี้สิ่งที่ห่วงคือภาระหนี้ครัวเรือน ตรงนี้ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นต้องถ่วงน้ำหนักพอสมควร”
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ