แบงก์แขยงหนี้เน่าหนักมาก
รายงานข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารพาณิชย์ได้ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พบว่ามีการตั้งสำรองหนี้เสียอยู่สูงถึง 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (ทีเอฟอาร์เอส 9) โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มของคุณภาพหนี้ด้อยค่าลง ทำให้ยังต้องตั้งสำรองหนี้ไว้ระดับสูง แต่ยืนยันระบบธนาคารยังมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ต้องติดตามหนี้เสียหลังจากนี้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะหนี้เสียเอสเอ็มอี แต่คาดว่ามาตรการช่วยเหลือของภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยไม่ให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยต้องจับตาหนี้ที่ผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน (เอสเอ็ม) ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก หากดูไตรมาสแรกมีเอสเอ็มของเอสเอ็มอีสูง 5.63 แสนล้านบาท คิดเป็น 11.06% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 62 ที่มี 1.74 แสนล้านบาท หรือ 3.46% ส่วนหนี้เสียเอสเอ็มอีไตรมาสแรกอยู่ที่ 2.45 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.8% ของสินเชื่อรวมเอสเอ็มอี 5.09 ล้านล้านบาท โดยหลายธนาคารได้ตั้งสำรองไว้ระดับสูงอยู่แล้ว
นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ได้ประเมินในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จะเริ่มมีความต้องการใช้เงินจากภาคธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเริ่มมียอดขายกลับมา และเข้ามาขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนขยายกิจการมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการอัดเงินในรอบสอง จากช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วในรอบแรกเพื่อให้ผู้ประกอบการได้อยู่รอดไปพร้อมกับพนักงาน
ทั้งนี้ยังต้องระมัดระวังปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจส่งออก เพราะยังต้องรอการฟื้นตัวที่จะทำให้รายได้กลับมา ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าโควิด-19 จะกลับมาระบาดในรอบสองอีกหรือไม่ ทำให้ยังต้องจับตาใกล้ชิด แต่ถ้าไม่มีระบาดซ้ำ เชื่อว่ากลุ่มนี้จะกลับมาได้ในปี 64 เพราะจะใช้เวลาค่อนข้างนาน
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารจะเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และต้องตั้งสำรองหนี้เสียในช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ระดับสูงเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยแนวโน้มหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่เห็นแนวโน้มของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาถึง 18 เดือนถึงจะเห็นภาพเอ็นพีแอลที่แท้จริง
“ยืนยันว่าธนาคารมีความแข็งแกร่งมากและมีความปลอดภัยในระดับสูง สิ้นปี 62 ธนาคารมีเงินกองทุนสูงถึง 16.56% ขณะที่เงินสำรองหนี้เสียของธนาคารจะอยู่ในระดับที่สูงเกินเกณฑ์ ธปท.กำหนด เช่นเดียวกับเงินสำรองส่วนเกิน เพื่อเป็นการรองรับเศรษฐกิจในอนาคตหากเกิดกรณีที่แย่ลง รวมถึงรองรับลูกหนี้หากไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้”
นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร เกียรตินาคิน กล่าวว่า หลังจากนี้ธนาคารต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะช่วงเวลานี้ยังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น พักหนี้ ทำให้ยังไม่เห็นแนวโน้มคุณภาพหนี้อย่างแท้จริงว่าเป็นอย่างไร จึงจำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้ไว้อยู่ระดับสูงเช่นเดียวกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์