แบงก์เข้มสินเชื่อไตรมาส 2

10 พ.ค. 2564 624 0

         รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มสินเชื่อในไตรมาส 2 สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยสินเชื่อครัวเรือนยังคงมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อที่มีแนวโน้มผ่อนคลายจากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อระหว่างสถาบันการเงิน โดยมีปัจจัยไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจ และความเสี่ยงของหลักทรัพย์ค้ำประกัน หลังจากไตรมาสแรกสินเชื่อครัวเรือนเข้มงวดจากความกังวลต่อผลกระทบโควิด-19 ที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจสูง เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่มาตรฐานการให้สินเชื่อบัตรเครดิตผ่อนคลายลงบ้าง

          ทั้งนี้ ปัจจัยที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้โดยไตรมาสที่ 2 ปี 64 ความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นเพื่อใช้จ่ายทั่วไปและบริหารสภาพคล่อง เนื่องจากครัวเรือนมีเงินออมต่ำ แต่สถาบันการเงินได้กำหนดเงื่อนไขการกู้ยืมที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อนี้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

          ความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ปรับลดลงสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสอดคล้องกับภาวะตลาดอสังหา ริมทรัพย์ที่ซบเซาและปรับลดลงเล็กน้อยในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จากผล กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และเงื่อนไขการกู้ยืมของสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นยังเพิ่มขึ้น”

          สำหรับความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 64 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยธุรกิจขนาดใหญ่มีความต้องการสินเชื่อโครงการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเพื่อโครงการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอียังเร่งระดมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ช่วงปลายปี 63 อีกทั้งความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและสินเชื่อเพื่อการส่งออกเริ่มปรับดีขึ้น

          นอกจากนี้ ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นในหลายธุรกิจและเพิ่มขึ้นมากจากลูกหนี้รายใหม่ แต่อัตราการอนุมัติสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงเล็กน้อย ขณะที่อัตราการอนุมัติสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อธุรกิจขึ้นกับสภาพคล่องโดยรวมของสถาบันการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ด้านแนวโน้มไตรมาสที่ 2 จะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยธุรกิจขนาดใหญ่ยังต้องการสินเชื่อโครงการเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่แน่นอนสูง

          ส่วนมาตรฐานการให้สินเชื่อภาคธุรกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 64 ผ่อนคลายลงเล็กน้อยในธุรกิจขนาดใหญ่เนื่องจากสภาพคล่องของสถาบันการเงินยังมีอยู่สูง แต่สถาบันการเงินยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีจากความเสี่ยงของธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนสูง ซึ่งสภาพคล่องที่มีอยู่มากมีส่วนช่วยลดความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีได้บ้าง

          สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 64 สถาบันการเงินประเมินยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงของธุรกิจ แต่สภาพคล่องของสถาบันการเงินที่มีอยู่สูงและมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมของภาครัฐ เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู จะช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ โดยสถาบันการเงินยังเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี โดยเฉพาะลูกค้าใหม่และธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดโควิด-19.

ที่มา: