แบงก์อุ้ม รวมหนี้-ลดดอก GenYตบเท้ารีไฟแนนซ์พุ่ง
แบงก์อัดแคมเปญรีไฟแนนซ์ “รวมหนี้-ลดดอกเบี้ย” ลดผลกระทบ โควิด-19 “ซีไอเอ็มบี ไทย” รับรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตผ่อน 12 เดือน ดอกเบี้ย 9% ชี้หมดมาตรการอุ้มลูกหนี้ ธปท. ดันยอดรีไฟแนนซ์พุ่ง จับตา Gen Y หนี้สูง ตบเท้าแก้หนี้ “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” เน้นช่วยลูกค้าแปลงสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิตรีไฟแนนซ์กว่า 7.6 หมื่นบัญชี มูลหนี้ราว 3 พันล้านบาท
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย เฟสแรก พบว่ามีลูกหนี้รายย่อยได้รับความช่วยเหลือ 11.5 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วน บุคคล มูลหนี้รวม 3.8 ล้านล้านบาท และ ธปท.ก็ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือเฟส 2 ต่อถึง สิ้นปี 2563
แบงก์อัดแคมเปญ “รวมหนี้”
นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์ธุรกิจรายย่อย และยุทธศาสตร์การตัดสินใจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการทำแคมเปญรีไฟแนนซ์ “รวมหนี้” ทั้งระบบใน ระยะข้างหน้า ทิศทางยังเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้ หวือหวา เนื่องจากขณะนี้สถาบันการเงิน แต่ละแห่งยังคงมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ลูกหนี้ยังคงอยู่ธนาคารเดิม แต่เชื่อว่า หลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และไม่มีมาตรการพิเศษออกมา จะเห็นโครงการรีไฟแนนซ์รวมหนี้ในตลาดเพิ่มมากขึ้น
ขณะนี้ธนาคารได้ร่วมมือกับ NEO Money สตาร์ตอัพพัฒนา mobile lending ในการบริหารจัดการหนี้ หรือปิดหนี้ ซึ่งลูกค้าอาจจะใช้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลหลายใบ และจากหลายสถาบันการเงิน และหากมารีไฟแนนซ์รวมหนี้ไว้แห่งเดียวเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ โดยคิดดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 11.84% ซึ่งเบื้องต้นที่เปิดให้บริการ พบว่ามีลูกค้าให้ความสนใจสมัครผ่านแอปพลิเคชั่นหลักหมื่นราย
สำหรับโครงการรีไฟแนนซ์รวมหนี้ของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มี 2 รูปแบบ คือ ลูกค้าที่ต้องการ “ลดดอกเบี้ย” โดยผ่อน ชำระต่อเดือนเท่าเดิม เช่น รวมหนี้บัตรเครดิต 3 ใบ ผ่อนชำระอัตราเท่าเดิมระยะเวลา 12 เดือน ได้ลดดอกเบี้ยจาก 18% เหลือ 9% อีกกลุ่มที่ต้องการ “ลดการผ่อนต่องวด” ลง 50% และลดดอกเบี้ย เนื่องจากรายได้ลดลงก็จะขยายเวลาผ่อนชำระเป็น 2 ปี คิดดอกเบี้ย 13.33% หรือกลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์ เช่น รถยนต์ที่ปลอดหนี้ สามารถนำไปขอสินเชื่อมาปิดหนี้ที่มี ดอกเบี้ยสูง โดยเสียดอกเบี้ยเช่าซื้อหรือจำทะเบียนเฉลี่ย 6-7%
“หลังหมดมาตรการพิเศษจากแบงก์ จะเห็นการรีไฟแนนซ์บริหารจัดการหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y (23-40 ปี) สอดคล้องกับข้อมูลของเครดิตบูโรที่ระบุว่า กลุ่ม Gen Y มีภาระหนี้สูงขึ้นตามพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงเน้นเป็นลูกค้าที่มีวินัย การเงินที่ดี แต่ได้ผลกระทบระยะสั้น เพราะการรวมหนี้มารีไฟแนนซ์การผ่อนชำระไม่ควรเกิน 3 ปี”
“เฟิร์สช้อยส์” อุ้มลูกค้า
ด้านนางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทจัดแคมเปญรวมหนี้รีไฟแนนซ์ เฉพาะของ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์เท่านั้น ยังไม่มีรวมหนี้ จากค่ายอื่น สำหรับลูกหนี้ที่ผ่อน ชำระไม่ไหว แต่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล สามารถรีไฟแนนซ์หรือแปลงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อ ผ่อนชำระเป็นงวดแปลงเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) ผ่อน 48 งวด คิดอัตราดอกเบี้ย 12% ส่วนวงเงินที่เหลือในบัตรสามารถผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% ตามนโยบายของ ธปท.
โดยลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการรีไฟแนนซ์ ณ วันที่ 24 มิ.ย. 63 ในส่วนของ บัตรเครดิต 23,000 บัญชี ยอดหนี้ราว 1.14 พันล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 53,600 บัญชี ยอดหนี้ราว 2 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี มองว่าแนวโน้มลูกค้าจะเข้าโครงการรีไฟแนนซ์ น่าจะใกล้เคียงกับมาตรการช่วยเหลือเฟสที่ 1 เพียง แต่มีโอกาสเข้าถึงการช่วยเหลือได้ยาวขึ้น ถึงสิ้นปี’63
สำหรับในมาตรการเฟส 1 ของกลุ่ม กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีลูกค้าที่รับความช่วยเหลือไปแล้ว แบ่งเป็นกลุ่มบัตรเครดิต 415,000 ราย มูลหนี้ 1.69 หมื่นล้านบาท หรือ 27% ของยอดหนี้ทั้งหมด และสินเชื่อ บุคคล 579,000 ราย มูลหนี้ 2.26 หมื่นล้านบาท หรือ 34% ของยอดหนี้ทั้งหมด
“การรีไฟแนนซ์ช่วยลูกค้าได้ดอกเบี้ยลดลง ภาระชำระต่องวดลดลง แต่ลูกค้าอาจจะต้องแสดงหลักฐานว่าตัวเองได้รับ ผลกระทบจริง รายได้หายและไม่สามารถผ่อนชำระไหว”
SCB รวมหนี้ดอกเบี้ย 9.9%
ด้านนางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการ ใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารมีโปรแกรม Speedy Balance Transfer เปิดให้บริการตั้งแต่ต้นปี 2563 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่มีภาระหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อบุคคลอื่น ที่มีภาระผ่อนชำระหลายบัญชี หรือหลายสถาบันการเงิน ให้สามารถรวมหนี้และนำมาผ่อน ชำระกับธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายได้สบายยิ่งขึ้น และระยะเวลาการผ่อนชำระที่ชัดเจน ช่วยลดภาระ การผ่อนชำระต่อเดือนและช่วยให้สามารถบริหารจัดการการเงินได้ดีขึ้นภายใต้ สภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ย พิเศษต่ำสุด 9.99% ในปีแรก เพื่อช่วยเหลือ ลูกค้ากลุ่มพนักงานประจำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร่วมโปรแกรมกว่า 900 ราย มูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 500,000 บาท คาดว่า ปีนี้จะมีลูกค้าให้ความสนใจและเข้าร่วมโปรแกรมประมาณ 2,000 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะเห็นว่าขณะนี้มีสถาบันการเงินอื่น ๆ เริ่มมีการออกโปรแกรมในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด บริษัทเห็นสัญญาณลูกค้าที่มีความต้องการเคลียร์หนี้เพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากแคมเปญ “เคลียร์หนี้กับ KTC PROUD” ที่ได้รับ ความสนใจจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็น ได้ชัด เนื่องจากโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง โดยพบว่าเดือน เม.ย.-พ.ค.มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมลุ้น “เคลียร์ หนี้กับ KTC PROUD” เพิ่มเป็น 1.4-1.5 หมื่นราย จากปกติที่มียอดลงทะเบียนเฉลี่ยเพียง 8,000 ราย เพราะใน ช่วงวิกฤต ลูกค้ากังวลในเรื่องภาระหนี้ที่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่จะเข้าร่วม จะต้องเป็นลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรขั้นต่ำ 2,000 บาทต่อเดือน สอดคล้องกับนโยบาย ธปท.ที่ต้องการให้สถาบันการเงินให้รางวัลกับลูกหนี้ที่ดี
สำหรับลูกค้า KTC เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 เฟสแรก ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อ 30 มิ.ย.นี้ โดยเคทีซี มีอยู่ 2-3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.ลดอัตรา ผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือ 3% 2.สินเชื่อ หมุนเวียน แปลงหนี้เป็นสินเชื่อเทอมโลน 48 เดือน ดอกเบี้ย 22% ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเข้าโครงการ 1,700 ราย มูลหนี้ 135 ล้านบาท และ 3.สินเชื่ออเนกประสงค์ KTC CASH พักชำระค่างวด 3 รอบบัญชี ซึ่งกลุ่มนี้มีลูกค้าใช้ไม่เยอะ ประมาณ 100 ราย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ