แบงก์ลุย อุ้มหนี้ SMEs

12 เม.ย. 2563 739 0

          แบงก์เดินหน้า ช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอี เหตุชอฟต์โลนธปท.หนุนได้เยอะ ลดปัญหาความสามารถชำระค่างวด-สภาพคล่อง เหตุพ.ร.ก.เปิดให้วงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อกลุ่มบริษัท ตั้งเงื่อนคุมเสี่ยงหวั่นแบกภาระ 30-40% และกันสำรองรวมหนี้เก่า

          มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ระยะ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท นอกจากให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อมาใช้ในการเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้วยังมีพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออก soft loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะSMEs ในวงเงิน 500,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อ ใหม่ในอัตราดอกเบี้ย 2% ให้กับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท ส่วน SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท จะได้รับการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน

          นอกจากนั้นธปท.ยังปรับลดเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจาก 0.46% เหลือ 0.23% เพื่อหวังให้ธนาคารนำเงินส่วนที่ลดไปลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกค้าโดยทันที จึงเห็นว่า ธนาคารหลายแห่ง ทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งหมด ลงทันที และบางแห่งปรับลดตามดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ“ว่า ธนาคารออมสิน มีฐานลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1.5 แสนล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 2-3% จากมูลค่ารวมทั้งระบบ 4.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นความต้องการใช้บริการจึงขึ้นกับส่วนแบ่งทางการตลาดหรือสัดส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีของแต่ละธนาคารด้วย ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการเชิงรุกอยู่แล้ว โดยลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท มีประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท สามารถใช้มาตรการพักหนี้เงินต้น 6 เดือนและผ่อนชำระดอกเบี้ย 50%  ส่วนวงเงินสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 500 ล้านบาทนั้น ธนาคารมีผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่เกิน 10 ราย

          “แบงก์ชาติได้ผ่อนเกณฑ์เกือบทุกอย่างแล้ว ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก็ไม่น่าจะมีเรื่องหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได (เอ็นพีแอล) หรือไม่มีเงินจ่ายหนี้แบงก์ และการ เพิ่มวงเงินกู้ใหม่ทางการช่วยชดเชย หากเป็นเอ็นพีแอล โดยแบงก์เองพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือเป็นราย Sector สิ่งที่จะเป็นปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ การหารายได้ เพราะหากมีรายจ่ายประจำเดือน โดยไม่มีรายได้ต่อไป จะต้องปรับลดคนงาน ซึ่งผู้ประกอบการต้องพยายามที่จะดิ้นรนหารายได้”

          นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ เอสเอ็มอี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารมีนโยบายให้ฝ่ายดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าหรือ RM ประมาณ 400 คน ติดต่อสอบถามความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ประมาณ 20,000 บาท เพื่อจะดำเนินการตามแผนช่วยเหลือลูกค้าในส่วนของซอฟต์โลนโดยรอสรุปรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน

          ส่วนการเลื่อนชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน จะช่วยต่อลมหายใจและประคองธุรกิจในระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีมาตรการนี้ธุรกิจจะต้องปลดคนงาน เพื่อลดภาระของบริษัทแต่จะกลายเป็นภาระของสังคมได้

          “มาตรการของธปท. ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทำงานง่ายขึ้น อย่างน้อยก็มีเจ้าภาพ ทั้งเลื่อนพักชำระหนี้ ป้องกันเลือดไหล หยุดภาระของธุรกิจ และเรื่องซอฟต์โลน เพราะไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการก็ไม่กล้า เชื่อว่าวงเงิน 5 แสนล้านบาท น่าจะช่วยผู้ประกอบการได้อย่างแน่นอน แต่ขอให้ Exceute ได้”

          แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินระบุว่า ซอฟต์โลนที่จะนำไปปล่อยกู้เพิ่มเติมกับลูกค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น ธนาคารเจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบในการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งรวมในส่วนของมูลหนี้เก่าด้วย เพราะทางการจะรับเฉพาะส่วนสูญเสีย 70% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่ม สำหรับวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนวงเงินตั้งแต่ 50-500 ล้านบาทจะชดเชยไม่เกิน 60% ซึ่งหลักการเบื้องต้น พ.ร.ก.กำหนดให้ธนาคารต้องนำมูลค่าส่วนที่จะได้รับชดเชยจากรัฐบาล มาปรับลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เพื่อใช้คำนวณค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss หรือ ECL)

          “การนำซอฟต์โลนของธปท.ไปปล่อยกู้ ถ้าลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ ทางการจะรับผิดชอบเฉพาะบางส่วนอาจจะ 60% หรือ 70% ไม่ใช่ 100% ของเงินต้น ซึ่งแม้จะรับซอฟต์โลนต้นทุนต่ำ 0.01% มีกำไรไม่ถึง 2% แต่ถ้ากลายเป็นหนี้เสียเท่ากับที่เหลือ 30-40% แบงก์ก็ต้องรับผิดชอบและการกันสำรองฯ ต้องนับรวมหนี้ก้อนเก่าด้วย ซึ่งทุกคนต้องดูแลเครดิตเต็มที่ระหว่างนี้ จึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วางระบบและคัดลูกค้าให้ตรงกับนิยามของธปท.เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น”

          อย่างไรก็ตาม มาตรการเสริมสภาพคล่องของธปท.ถือว่า เป็นการช่วยเหลือลูกค้าค่อนข้างมาก โดยกลุ่มบริษัทสามารถได้รับสินเชื่อเพิ่มไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้างกับแต่ละธนาคาร และผ่อนปรนพิเศษทั้งอัตราดอกเบี้ยถูก, รัฐชดเชยความ เสียหาย,ไม่คิดค่าธรรมเนียม จึงอยากให้ลูกค้าที่ได้รับซอฟต์โลน ต้องมีวินัยทางเครดิตด้วย

          มาตรการของธปท.ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทำงานง่ายขึ้น

ที่มา: