แบงก์ชาติจี้ภาครัฐแก้ศก.ตรงจุด
“ธนาคารแห่งประเทศไทย” เผยแพร่รายงาน “กนง.” ประเมินจุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ห่วงฐานะการเงิน“ธุรกิจ-ครัวเรือน” ชี้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงจากพิษโควิด-19 จะทำให้ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ แนะภาครัฐควรออกแบบมาตรการให้ตรงจุดและเพียงพอ
เมื่อวันที่ 7 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2564 ที่ประชุมเมื่อวันที่24 มี.ค. 2564 โดยคณะกรรมการฯประเมินว่าในระยะข้างหน้าประมาณการเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากหลายปัจจัยได้แก่ 1.การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่อาจล่าช้าจากข้อจำกัดในการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 เช่น ความเพียงพอของวัคซีน ความกังวลของประชาชนในการฉีดวัคซีนและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส 2.แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาดหากมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ ที่เหลือ ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 3 ปี 2564
3.ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจและแรงงานจะกลับมาฟื้นตัวช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects) และ 4.การผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อาจสูงขึ้นมากภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและมีความแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างภาคเศรษฐกิจ (uneven recovery) ภาครัฐจึงควรออกแบบมาตรการให้ตรงจุดและเพียงพอ
ส่วนในกรณีเลวร้ายที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด คณะกรรมการฯ เห็นว่าภาครัฐควรเตรียมพร้อมชุดมาตรการการเงินและการคลัง (policy package) เพิ่มเติมไว้รองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะหากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในปี 2564 น้อยกว่าที่คาด คณะกรรมการฯ เน้นย้ำถึงความจำเป็นของนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว โดยเห็นว่า ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการระบาดของ COVID-19 ยังอาจซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ