แทรมภูเก็ต ผู้ว่าฯรฟม.ให้นับหนึ่งใหม่

10 พ.ค. 2565 487 0

         นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า  รฟม. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง โดยมีความชัดเจนแล้วว่าจะปรับระบบขนส่งจากเดิมรถไฟฟ้าล้อเหล็กเป็นรถไฟฟ้าล้อยาง จะทำให้ต้นทุนการลงทุนลดลง เนื่องจากไม่ต้องทำแนวเส้นทางเดินรถให้เป็นรางเหล็ก เป็นเพียงการตีแนวเส้นทางเพื่อนำทางเดินรถเท่านั้น นอกจากนี้ รฟม. ยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อศึกษาความเหมาะสมของการใช้พื้นที่ทางหลวงในการปรับเพิ่มช่องจราจร เพื่อรองรับการเดินรถไฟฟ้าล้อยางด้วย

          นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ลดการลงทุนในส่วนของเส้นทางเดินรถ โดยเฉพาะที่เป็นพื้นที่ต่างระดับ และอุโมงค์ ดังนั้นจึงต้องเร่งหารือร่วมกับ ทล. คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนี้ ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม ต่อไป อย่างไรก็ตามการปรับแบบของเส้นทางเดินรถ ต้องเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เพื่อทบทวนการลงทุนใหม่ รวมทั้ง ต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อปรับรายงานใหม่ด้วย ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจึงจะเริ่มต้นขั้นตอนประกวดราคาได้ เบื้องต้น รฟม.ประเมินว่าขั้นตอนต่าง ๆ อาจจะแล้วเสร็จทันภายในปี 65 เพื่อเริ่มต้นร่างเอกสารประกวดราคา

          นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า เวลานี้เหมือนเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เพราะต้องปรับแบบ เพื่อลดต้นทุนลงไปอีก และทำราคาค่าโดยสารให้เหมาะสม นอกจากนี้ต้องศึกษาโอกาสของการหารายได้เพิ่มขึ้น จากการพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารตามแนวสถานีต่าง ๆ เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ รฟม. กำลังเร่งดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด และหากโครงการผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่าย รฟม.ก็พร้อมดำเนินการในขั้นตอนประกวดราคาต่อไป

          รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ได้มอบหมายให้ รฟม. ทบทวนโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และปรับลดวงเงินการลงทุนจากเดิมให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะแนวเส้นทางของโครงการที่ต้องขุดเจาะอุโมงค์ และทางยกระดับ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง จึงอยากให้หารือกับ ทล. เพื่อปรับใช้พื้นที่ทางหลวงเป็นแนวเส้นทางเดินรถ หรืออาจจะเวนคืนที่ดินไหล่ทางเพิ่มขึ้นบ้าง นอกจากนี้ต้องปรับค่าโดยสารให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้ในราคาที่เหมาะสม เช่น เริ่มต้น 20 บาท สูงสุดไม่เกิน 40 บาท เพราะหากมีราคาแพงจะไม่ดึงดูดการใช้งาน ประชาชนไม่เปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้เมื่อเปิดให้บริการอาจมีเพียงผู้โดยสารกลุ่มนักท่องเที่ยว

          รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เดิม รฟม. จะใช้โมเดลคิดค่าโดยสารเหมือนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ที่ปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ซึ่งกระทรวงคมนาคมมองว่าอาจไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้โดยสารในภูเก็ต เพราะอาจไม่ได้เดินทางในระยะใกล้ ดังนั้นไม่ควรจัดเก็บค่าโดยสารปรับเพิ่มเป็นอัตราขั้นบันไดจากจำนวนสถานี แต่ให้ศึกษาใช้โมเดลปรับราคาค่าโดยสารแบ่งเป็นโซนพื้นที่ อาทิ การเดินทาง 3 โซน มีค่าโดยสารจัดเก็บ 3 ราคา เป็นต้น

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้โครงการแทรมช่วง ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. มีวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีนโยบายให้ปรับรูปแบบเป็นรถรางล้อยาง (Automated Rapid Transit : ART) ลดต้นทุนการก่อสร้างเหลือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องพิจารณาปรับลดวงเงินลงอีก

ที่มา: