เหล็กพุ่ง แรงงานขาด ป่วนตลาดก่อสร้าง
ปี 2563 ธุรกิจผลิต และจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปี 2562 ตามภาวะซบเซาของการลงทุนก่อสร้างในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยน้อยลง รวมถึงความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนรวมของภาครัฐ ทำให้ตลอดทั้งปี ราคาวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ อยู่ในภาวะหดตัว และทรงตัว
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีทิศทางเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น เมื่อ ณ สิ้นปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ความต้องการทั่วโลก กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น จากคำสั่งซื้อของประเทศ ที่สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติได้อีกครั้ง ไม่นับรวมข้อจำกัดจากประเทศมหาอำนาจอย่างจีน แย่งซื้อเหล็กสำเร็จรูปในตลาดโลก วิกฤติซัลพลายเหล็กขาดแคลน ราคาพุ่งขึ้นสูงถึง 16% ในช่วงไตรมาสแรกในไทยของปี 2564 ได้กลายเป็นภาวะซ้ำเติม อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง และภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยอีกครั้ง ขณะปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากภาวะโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เริ่มมีผลกระทบมากขึ้นจากเสียงสะท้อนผู้ประกอบาร
เริ่มตั้งแต่ก่อนหน้า นายวรวุฒิกาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เคยออกมาเปิดเผยว่า นอกจากขณะนี้ ตลาดรับสร้างบ้าน กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด เพราะลูกค้าชะลอการตัดสินใจ ปลูกสร้างบ้านแล้ว ผู้ประกอบการ ยังกำลังเผชิญกับปัญหา การเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กเส้น และเหล็กรูปพรรณอีกด้วย โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะลงมาอยู่ในราคาเดิมที่เคยเป็นอยู่ สวนทางกับความจำเป็น ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังต้องใช้วิธีการตรึงราคาบ้านให้ลูกค้าในช่วงนี้ เพื่อกระตุ้นยอดงานในมือ ฉะนั้น ราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น บริษัทรับสร้างบ้าน จึงเป็นผู้รับภาระดังกล่าวไว้แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่าจะคงราคาไว้ได้นานแค่ไหน โดยจะพิจารณากันอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 2 นี้
ฝากฝั่งผู้รับเหมาเมกะโปรเจ็กต์รายใหญ่ อย่าง บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT บริษัทก่อสร้างงานอุโมงค์รถไฟทางคู่เด่นชัย เชียงรายเชียงของ โดยนายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ธุรกิจรับเหมางานประมูลของภาครัฐในปี 2564 มีโอกาสเติบโตสูง ทั้งงานระบบขนส่งทางราง งานถนน ระบบบริหารจัดการน้ำในประเทศ จากการกลับมาเปิดประมูลต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ บริษัท กำลังเผชิญกับราคาเหล็กที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูง ทำให้ต้องเร่งเจรจากับ ซัพพลายเออร์ (คู่ค้า) เพื่อขอต่อรองราคา เนื่องจาก หากคำนวณต้นทุนก่อสร้างต่อหนึ่งโครงการ จะแบ่งเป็นสัดส่วนต้นทุนที่มาจากวัสดุก่อสร้างมากถึงราว 50% โดย 25% นั้นเป็นเหล็ก ส่วนงานก่อสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ มักมีต้นทุนเหล็กอยู่ราว 5-6%
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นปัญหามากนักสำหรับงานที่ยังไม่ได้เริ่มเซ็นสัญญาก่อสร้าง สามารถเข้าสู่กระบวนการขอปรับปรุงต้นทุนใหม่ได้ ส่วนงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนใหญ่ เป็นสัญญาแบบปรับราคาได้ (ปรับค่า K) ตามความเดือดร้อนจากวัสดุก่อสร้างมีราคาสูงขึ้น และใช้วิธีเร่งการทำงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อลดทอนแนวโน้มราคาเหล็ก หรือวัสดุอื่นๆที่น่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคต ขณะเดียวกัน บริษัทกำลังพิจารณาหาวัสดุ (material) อื่นๆมาทดแทน เพราะแม้มีความกังวลต่อต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น แต่จำเป็นต้องประมูลงานใหม่ๆ เข้ามาเป็นมูลค่างานในมือ (Backlog) เพื่อใช้รับรู้รายได้ในอนาคต
ทั้งนี้ นายชวลิต ยังระบุต่อว่า ปัญหาที่เป็นอุปสรรคใหญ่อีกเรื่อง ณ ขณะนี้ คือ การขาดแคลนแรงงาน เพราะหลังจากสถานการณ์โควิด แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ และยังไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้
“อีกแง่ จากการที่บริษัทมีงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว และเมียนมา การส่งแรงงานเข้าไปเติม เป็นไปด้วยต้นทุนและความยากลำบาก มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว จากการกักตัวไป-กลับของแรงงานรวม 1 เดือน และค่าเครื่องบินที่ต้องเช่าเหมาลำ เป็นต้น”
ด้านนายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการ่ผู้จัดการบริษัทซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือ พรีคาสท์ เผยว่า ปัจจุบัน เหล็กเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตพรีคาสท์ และได้รับผลกระทบจากราคาโลกที่ปรับขึ้นนับ 2 เท่าตัว คาดมาจากความต้องการสั่งซื้อที่มีมากอย่างฉับพลันในหลายประเทศ สวนทางกับสต๊อก-กำลังผลิตที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ต้องปรับราคาขายพรีคาสท์ขึ้นตามไปด้วย ซึ่งค่อนข้างเป็นประเด็นละเอียดอ่อน สำหรับเจ้าของโครงการ เนื่องจาก เกิดขึ้นในภาวะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดที่อยู่อาศัยไทยอยู่ในช่วงซบเซา ยังไม่ฟื้นตัว และผู้ประกอบการไม่กล้าปรับราคาขาย ขณะบริษัทเอง ซึ่งมีลูกค้ารายใหญ่ ศุภาลัย, เฟรเซอร์ส, ออริจิ้น และ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ได้เจราจาพูดคุยกับลูกค้าเบื้องต้นแล้ว โดยส่วนใหญ่ เป็นผู้ประกอบการแนวราบ การสั่งซื้อเป็นลักษณะการก่อสร้างรายเฟส ระยะสั้น จึงสามารถขอปรับราคาได้ แต่จะกระทบในงานคอนโด มิเนียม ที่ส่วนต่างกำไรน้อยลง
“ขณะนี้ ลูกค้าก็ป้องกันตัวเอง ใส่ใจเรื่องต้นทุนมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างหลัก ไม่ได้ทำให้เขาตื่นตระหนกก็จริง แต่ไม่ดีแน่ อีกทั้งส่วนใหญ่ยอมแลก เพราะเชื่อว่า หลังโควิดคลี่คลาย เปิดประเทศได้ ดีมานด์ที่อยู่อาศัยทั้งจากคนไทยและต่างชาติจะเพิ่มขึ้น การมีสต็อกพร้อมขาย พร้อมโอนฯ จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากกว่า และการซื้อวัสดุก่อสร้าง หลังตลาดเปิดแล้ว ราคาสูงกว่านี้ จะเป็นเรื่องน่ากังวลกว่า”
ขณะบิ๊กโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) พบว่า มีการเปลี่ยนเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน จากเดิมที่ดำเนินการเองทั้งหมด มาสู่การจ้างซัพพลายเออร์แต่ละส่วนงานจำนวนมาก ปัจจุบันนั้น นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า ได้เปลี่ยนมาใช้ผู้รับเหมารายใหญ่ๆ ราว 1-2 รายต่อโครงการเท่านั้น เพื่อเป็นการตรึงต้นทุน จากข่าวประกาศหาผู้รับเหมาจำนวนมาก เพื่อเข้ามารับงานในปี 2564 ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ต่างจังหวัด มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ระบุ พิจารณาพิเศษ สำหรับรายที่สามารถรับงานได้มูลค่าตั้งแต่ 40 ล้านบาท/ปี ขึ้นไป ส่วนเรื่องราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้น พฤกษา ใช้หลักการ Value Engineering คือ การนำหลักทางทางวิศวกรรมเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์กระบวนการต่างๆ เพื่อลดการใช้วัสดุก่อสร้างเกินความจำเป็น
“ราคาเหล็ก ต้นทุนก้อนใหญ่งานก่อสร้างพ่ง ปรับแรง 16% ป่วนอุตสาหกรรมก่อสร้าง-ที่อยู่อาศัยไทย ธุรกิจรับสร้างบ้านโอด ต้นทุนทุบ แต่ขยับราคาบ้านไม่ได้ - ผู้รับเหมาใหญ่ RT กระอักต้นทุนแรงงานจากโควด ขณะ ซี แพนเนล รับจำเป็นต้องปรับราคาขายพรคาสท์ผู้ประกอบการยอมเจ็บตัว แลกสต็อกโครงการเพ่อขาย ด้านพฤกษา เกมเร็ว ตรงต้นทุน จ้างผู้รับเหมาใหญ่ครั้งเดียวเจ็บแต่จบ”
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ