เศรษฐกิจทรุด แห่หั่น จีดีพี
'เวิลด์แบงก์' ห่วงไทยเติบโตช้าลง - 'ทีดีอาร์ไอ' แนะเพิ่มมาตรการหนุน
“อีไอซี” มองจีดีพีในปีหน้า 3.5% ต่ำกว่าของธปท.
“เวิลด์แบงก์” ชี้ชัดเศรษฐกิจไทยโตต่ำลงเรื่อยๆ สะท้อนความท้าทายเพิ่มขึ้น “ทีดีอาร์ไอ” ชี้การขึ้นดอกเบี้ยกระทบต้นทุนธุรกิจ และการบริโภค หวังมีมาตรการอื่นลดผลกระทบเศรษฐกิจ
สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี นับจากเดือนต.ค.2556
นอกจากนี้ที่ประชุม กนง.มีมติปรับลด คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ลงเหลือ 2.8% จากคาดการณ์เดิม 3.6% นับเป็นการปรับประมาณการลงค่อนข้างแรง เช่นเดียวกับการปรับตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ลงมาเหลือ 1.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.5%
สาเหตุที่ กนง.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงค่อนข้างมากเป็นผลจากตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าที่เคยประเมินค่อนข้างมาก ทั้งการส่งออก ที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาด และจำนวน นักท่องเที่ยวต่ำกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม กนง.เพิ่มประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็น 4.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.8% และเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 เป็นเติบโต 2.6% จากเดิมที่ 2.4% ซึ่งได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการภาครัฐที่ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมา เติบโตค่อนข้างดี
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ประจำธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า การปรับมุมมองจีดีพีของ กนง.ล่าสุดมาจากผลกระทบตลาดโลก ที่กระทบการส่งออกลดลง ซึ่งชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ รวมถึงเศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าคาด ทำให้กระทบต่อภาพการท่องเที่ยวลดลง
อีกทั้งเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในอาเซียน และเพิ่งกลับไปสู่ระดับเดียวกับก่อนโควิดเมื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่กลับไปสู่ระดับปกติ
ขณะที่ภาพเงินเฟ้อไทยปีก่อนสูงสุดในอาเซียน แต่ปัจจุบันต่ำสุดในอาเซียน สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่เติบโตช้า แต่จากความเป็นห่วงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากประเด็นเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแต่เวิลด์แบงก์ ประเมินว่าเงินเฟ้อผ่านจุดพีคไปแล้ว ดังนั้นวัฏจักรของดอกเบี้ยน่าจะเริ่มทรงตัวได้
ส่วนมุมมองเศรษฐกิจปีนี้ เวิลด์แบงก์ อยู่ระหว่างการปรับจีดีพี ซึ่งจะประกาศตัวเลขคาดการณ์ใหม่วันนี้ (2ต.ค.) โดยประเด็นที่น่าห่วงของเศรษฐกิจไทยคือการเติบโตที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ
“จีดีพีปีนี้ และปีหน้าเราอยู่ระหว่างการปรับประมาณการใหม่ภาพที่สำคัญคือระยะกลาง ระยะยาว ว่าท้ายที่สุดการเติบโตจีดีพีของเราจะอยู่ที่เท่าใด อดีตเศรษฐกิจไทยโต ได้ 3.5% แต่ตอนนี้เราปรับลงมาเรื่อยๆ มาอยู่ใกล้ 3% สะท้อนความท้าทายของเรามีมากขึ้น ภาพระยะปานกลางเรากำลังชะลอตัว”
“เคเคพี” จับตามาตรการรัฐ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า KKP ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาก่อนหน้านี้แล้วเหลือเติบโตในระดับ 2.8% ดังนั้นที่ กนง.ปรับลงมาจึงใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้
ขณะที่ปี 2567 ปรับตัวเลขเศรษฐกิจปีหน้า ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% จากเดิม 3.6% โดยยัง ไม่รวมปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงมุมมอง ธปท.ล่าสุด ทั้งนี้หากรวมมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะแจกเงินดิจิทัล คาดว่ามีโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น เกิน 4% หรือ 4% กลางๆได้
“ต้องจับตาจีดีพีในปีหน้าว่าท้ายที่สุดแล้วนโยบายภาครัฐจะหนุนจีดีพีแค่ไหน และเงินที่ใช้จะมาจากเงินใหม่หรือไม่ หากเป็นเงินใหม่ผลต่อเศรษฐกิจจะมาก จีดีพีก็มีโอกาสโตเหนือ 4% หรือ4%กลางได้ แต่หากเป็นงบเดิม ตัดงบจากงบที่มีอยู่แล้ว ผลต่อเศรษฐกิจอาจน้อยกว่านี้
“ทีทีบี” คาดเศรษฐกิจพ้นจุดต่ำสุด
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics กล่าวว่า ttb ได้ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยก่อนหน้านี้แล้ว โดยลดการเติบโตในปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับที่ ธปท.ได้ประเมินไว้
อย่างไรก็ตาม ttb มองว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และหากดูแนวโน้มระยะข้างหน้าจะเห็นการส่งออกเดือน ส.ค.2566 เริ่มดีขึ้น โดยพลิกกลับมาเติบโตครั้งแรกในรอบ 11 เดือนที่ 2.6% จึงคาดว่าหากไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามากระทบเพิ่มเติมเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ในระดับที่ประมาณการไว้
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ทาง ttb ได้ลดการเติบโตลงเหลือ 3.2% ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวบผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ดังนั้นหากรวมผลของปัจจัยดังกล่าวก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.8%
นายนริศ กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทย ปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าที่คาด ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ แต่การเติบโตดังกล่าวจะเป็นเพียงช่วงสั้น โดยระยะยาวเศรษฐกิจไทยจะขยายได้ระดับที่ต่ำกว่าการเติบโตปี 2567 แน่นอน
“ปีหน้าคงเติบโตดีกว่าปีนี้ น่าจะยืนได้เกิน 3% หากไม่มีปัจจัยภาครัฐ แต่สิ่งที่ต้องติดตาม คือเศรษฐกิจโลก ว่าจะเป็นอย่างไร และอาจต้องไปถึงระยะข้างหน้า เรื่องวินัยการเงินการคลัง และความเชื่อมั่นของ นักลงทุน จากการทำนโยบายภาครัฐ”
ห่วงเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการ ผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว รายได้นักท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ที่บางส่วนชะลอตัวลง เช่น ยอดขายรถยนต์ลดลง อีกทั้งดอกเบี้ยสูง ยังมีความเสี่ยงที่ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะอยู่ระดับสูงได้ เหล่านี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ยังไม่กลับมาดี และภาพเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลง
ดังนั้นหากปัจจัยข้างต้น มีผลกระทบมากกว่าที่คาด อาจส่งผลทำให้จีดีพีไทยปีนี้ต่ำลงอีกได้ จากปัจจุบันที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการเติบโตไว้ที่ 3% ขณะที่ในปี 2567 ยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยโตระดับ 4% เมื่อรวมปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐเข้ามาแล้ว อีกทั้งปีหน้ายังได้รับปัจจัยบวก เรื่องฐานต่ำปีนี้ ที่จะทำให้จีดีพีมีโอกาสเติบโตที่ระดับ 4%ได้ “หากตัวเลขเศรษฐกิจแย่กว่าที่ เรามองไปอีก จีดีพีอาจต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 2.8% ได้ แต่คงไม่ลงไปต่ำกว่า 2.5% แต่วันนี้ เรายังยืนที่ 3% และเชื่อว่า การคาดการณ์ของแบงก์ชาติที่ 2.8% ก็ไม่ต่างกับเรามาก ห่างกันเล็กน้อย ดังนั้นตัวเลขที่ออกมาก็จะเห็นใกล้เคียงกัน”
มองเศรษฐกิจปีหน้าสวนทาง ธปท.
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า EIC เพิ่งลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 3.1% ซึ่งอาจ สูงกว่า ธปท.เล็กน้อยที่ 2.8%
ส่วนปีหน้าประเมินไว้ที่ 3.5% ซึ่งไม่รวมปัจจัยบวกจากนโยบายภาครัฐที่อาจต้องปรับจีดีพีขึ้นในระยะข้างหน้า โดยถ้ามีปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐเข้ามามากมีโอกาสที่จะหนุนให้จีดีพีปีหน้าโตระดับ 5-6%
“ปัจจัยสำคัญเราอาจไม่ได้มาจากปีนี้แล้ว แต่สำคัญกว่าคือปีหน้ามีสิ่งที่ต้องติดตามมากขึ้น ล่าสุด EIC ยังคาดการณ์เศรษฐกิจโต 3.5% แม้ ธปท.มองการเติบโตสูงถึง 4.4% แต่เราก็เปิดช่องไว้ให้ปรับขึ้นได้ในอนาคต จากมาตรการภาครัฐด้วย”
นอกจากนี้ประเด็นสำคัญ อาจไม่เฉพาะปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น แต่อาจต้องติดตามปัจจัยระยะยาว เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเร่งลงทุนเพื่อยกระดับประเทศระยะกลาง-ยาว ที่สำคัญอีกด้าน คือ ต้องติดตามดูเศรษฐกิจจีนว่าจะซึมยาวหรือไม่ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้าค่อนข้างมาก
ขึ้นดอกเบี้ยกระทบอุปสงค์ภายใน
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ซีไอเอ็มบีไทย เพิ่งปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยลงมา เหลือ 3% จากเดิม 3.2% แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจจริงในเดือน ส.ค.ที่ชะลอมากกว่าคาดทั้งการบริโภค การลงทุน รวมถึงการส่งออกอาจทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ต่ำกว่าคาดเช่นกัน อีกทั้งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจกระทบอุปสงค์ในประเทศจึงเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตาม
“สิ่งที่ต้องรอความชัดเจนคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่อาจออกมาในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ที่อาจหนุนให้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายเติบโตมากกว่า 5% ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปี 2566 ด้วย”
นายอมรเทพ กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ ซีไอเอ็มบีไทย คงคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 3% แต่กรณีเลวร้ายการเติบโตอาจต่ำในระดับ 2.7% ขณะที่ ปี2567 เดิมประเมินที่ 3.5% จากความเสี่ยงการเติบโตช้าในภาคส่งออก แต่ได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวสนับสนุนการบริโภค และการย้ายฐานลงทุนส่วนภาครัฐหากมีมาตรการแจกเงินดิจิทัลจะช่วยเศรษฐกิจไทยขยายตัว ขึ้น 0.5% ซึ่งมีโอกาสที่เศรษฐกิจ ไทยจะขยายตัว เหนือ 4% ปีหน้า
ชี้คงดอกเบี้ยสูงฉุดเศรษฐกิจ
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอทยอยลด คาดการณ์จีดีพีในปีนี้มาก่อนที่ ธปท.จะปรับลด โดยทีดีอาร์ไอลดจีดีจาก 3.6-3.7% ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 3% เนื่องจากจำนวนของนักท่องเที่ยว ต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีนและญี่ปุ่นยังไม่กลับเข้ามาตามเป้าหมาย แม้ระยะสั้นจะมีมาตรการวีซ่าฟรี ซึ่งเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาส่วนนี้ แต่เรื่องวีซ่าไม่ใช่ปัญหาหลัก โดยมีปัจจัยอื่น เช่น ภาพลักษณ์และ ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง เช่น เศรษฐกิจของประเทศจีนที่ยังมีปัญหาภายในมากทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่ออกมาเที่ยวต่างประเทศมากนัก
สำหรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะปานกลาง คาดว่าจะมีการเติบโตเศรษฐกิจในระดับประมาณ 3% ต่อปี
ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.5% ต่อปี โดยระดับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจในแง่ของกำลังซื้อ และภาระในการจ่ายดอกเบี้ยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น
รวมทั้งต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น แต่ ธปท.เองก็ต้องมีการดำเนินมาตรการอื่นๆ หรือเครื่องมืออื่นๆควบคู่กันไปด้วยเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นกระทบกับประชาชน และภาคธุรกิจมากเกินไป เช่นเดียวกับมาตรการของภาครัฐที่ต้องใช้มาตรการหลายอย่าง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปสู่เป้าหมายได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ