เครดิตบูโรชี้ลบแบล็กลิสต์

12 ม.ค. 2566 268 0

หวั่นกระทบแบงก์-ลูกค้า

          รอซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง

          นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกรณีที่มีข้อเสนอนโยบายให้ยกเลิกแบล็กลิสต์ หรือบัญชีดำ โดยระบุว่าคำว่าแบล็กลิสต์ในเครดิตบูโรนั้นไม่ได้ระบุในรายงานเครดิต ซึ่งในรายงานจะมีข้อมูลบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ ที่ได้มาจากสถาบันการเงิน สมาชิกของเครดิตบูโร ในทุกเดือน และอาจมีบางหน่วยงานที่ไม่ได้ส่งข้อมูลเพราะไม่ได้เป็นสมาชิก

          นอกจากนี้ประวัติที่ถูกส่งมายังระบบเครดิตบูโร คือประวัติการชำระหนี้ ตามที่ลูกค้ามีบัญชีอยู่ ถ้าจ่ายได้ตามกำหนดข้อมูล จะบอกว่าไม่ค้างชำระ แต่ถ้าไม่ได้ไปจ่ายหนี้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม รายงานจะระบุว่าค้างชำระ เพื่อให้สถาบันการเงินรับทราบข้อมูลประกอบการปล่อยสินเชื่อ เช่น ในเดือน เม.ย. 65 ไม่ได้จ่ายชำระหนี้ ในรายงานระบุเป็นค้างชำระพอเดือนพ.ค. 65 ลูกหนี้จ่ายหนี้ทั้ง 2 ยอด ประวัติจะแสดงว่าไม่ค้างชำระ แต่ตามข้อเสนอให้ลบข้อมูลในเดือนที่ค้างชำระออกไป เพื่อให้คนปล่อยกู้ไม่เห็น ซึ่งอาจกระทบกับผู้ฝากเงินกับสถาบันการเงินที่ให้นำเงินไปปล่อยกู้ต่อได้

          “ถ้าลบแล้วข้อมูล ประวัติ จะหายไป 1 เดือน คือเดือน เม.ย. คนพิจารณา ให้กู้เขาก็จะรู้โดยอ้อมหรือไม่ ว่าข้อมูลผิดปกติ แล้วคนฝากเงินที่เขาเอาเงินมาฝากเพื่อให้สถาบันการเงิน เอาเงินไปให้กู้ต่อ จะสบายใจหรือไม่ สถาบันการเงินจะมีข้อมูล ครบในการพิจารณาสินเชื่อ จากที่เคยมีประสบการณ์ ที่เกิดในปี 40 มาแล้ว ว่าเพราะคนปล่อยกู้มีข้อมูลไม่ครบ ความเสียหายก็เกิดขึ้นนับเป็นเงินระดับล้าน ๆ บาท ผ่านมา 20 กว่าปีก็ยังใช้ไม่หมด “

          นายสุรพล กล่าวยอมรับว่าระบบการให้สินเชื่อยังไม่ตอบโจทย์ ยังมีคนตัวเล็ก เอสเอ็มอีขนาดจิ๋ว ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือถูกคิดดอกเบี้ยแพง ยิ่งหลังโควิดมีแผลเป็นจากการชำระหนี้ เช่น เป็นคนเคยค้างแต่ตอนนี้ดีแล้ว, เป็นคนเคยประนอมหนี้แต่ตอนนี้กลับมาชำระปกติได้แล้ว หรือช่วงโควิด เป็นหนี้เสียค้างเกิน 90วัน เป็นหนี้เสีย แต่เวลานี้เศรษฐกิจกลับมาแล้ว ซึ่งแผลเป็นคือเป็นหนี้เสีย

          ขณะที่เรื่องการจะได้เงินใหม่ หนี้ก้อนใหม่ ต้องมีข้อมูล ว่ามีรายได้แล้ว และมีแน่นอน ที่ผ่านมารายได้หดหาย เกิดหลุมรายได้ ซึ่งอาจใช้ข้อมูล ด้านอื่น ๆ เช่น ใช้ประวัติจ่ายหนี้ค่าน้ำค่า ไฟ ค่าโทรศัพท์ ไม่ค้าง หรือแม้แต่เป็นลูกจ้างแพลตฟอร์ม ขายอาหาร ส่งของ ส่งสินค้า หรือมีข้อมูล จากผู้ซื้อที่เป็นกิจการ ถ้ามีข้อมูล แบบนี้ที่เรียกว่าข้อมูลทางเลือก อาจใช้ประกอบพิจารณาสินเชื่อได้

          “เห็นด้วยในเรื่องปรับปรุงแนวคิดระบบการให้สินเชื่อของประเทศไทย เพราะไทยมีแผลเป็นจากโควิดในตัวคนกู้มากมาย และคนกู้นี้ต้องไปต่อ หากแต่จะไปยกเลิกในสิ่งที่มันไม่มีอยู่จริง ไม่เคยมี เป็นเรื่องของสิ่งที่พูดกันต่อ ๆ มา ตามความเชื่อ ไม่มีหลักฐาน คงไม่ทำอย่างนั้นแน่”

ที่มา: