อสังหาเชียงใหม่ระส่ำทุนจีน ผู้ว่าฯเชือดนอมินีสั่งยึดบ้าน

21 ธ.ค. 2566 281 0

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปฏิบัติการปราบปราบกลุ่มทุนจีนที่มีการถือครองทรัพย์สินเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่านการถือครองโดยตัวแทนคนไทย หรือนอมินี ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ โดยก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอข่าว “เชียงใหม่ ไชน่าทาวน์ ทุนจีนยึดสันกำแพง-หางดง” ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับข้อเท็จจริง มีกลุ่มทุนจีนปักหมุดทำโครงการบ้านจัดสรร รองรับดีมานด์คนจีนด้วยกัน เรียกว่าเป็นหมู่บ้านที่คนจีนอาศัยอยู่ 100% ในโซน อ.หางดง และ อ.สันกำแพง

          ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในการตรวจสอบพบ ยึดคืน และนำมาประกาศขายทอดตลาดในขณะนี้ โดยคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นมาตรการเชือดไก่ให้ลิงดู เพราะทำให้การทำธุรกรรมในสำนักงานที่ดิน สาขาหางดง ในลักษณะการจดทะเบียนนิติบุคคลที่เข้าข่ายเป็นบริษัทนอมินี มีจำนวนธุรกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด

          ผู้ว่าฯเชียงใหม่เชือดนอมินีทุนจีน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจฝั่งตรงข้ามโรงเรียนนานาชาติลานนา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการหมู่บ้านจัดสรรชื่อ “รัก เชียงใหม่” หรือ ICM RESORT ต.บ้านแหวน อ.หางดง มีการติดป้ายประกาศขนาดใหญ่หน้าหมู่บ้าน รายละเอียดระบุว่า “ประกาศขายบ้านและที่ดิน” (ตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่) จำนวน 8 หลัง เลขที่ 169, 169/1, 169/2, 169/3, 169/4, 169/5, 169/6, 169/7 พร้อมติดประกาศคำสั่งที่ออกโดยสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาหางดง เลขที่หนังสือ ที่ ชม 0020.06/13903 ระบุว่า เรื่อง ขอให้จำหน่ายที่ดิน

          เรื่องนี้ นายอารักษ์ กัมปนาทบวร หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดตรวจสอบพบมี 2 โครงการจัดสรร ที่มีการถือครองที่ดินอันอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้แก่ 1.โครงการบ้านฟ้าหลวง อ.สันกำแพง 2.โครงการหมู่บ้านจัดสรร รัก เชียงใหม่ ICM RESORT ต.บ้านแหวน อ.หางดง ของบริษัท เชียงใหม่ เจี่ยหยวนไถ่ จงโย่วเชียน กงซือ จำกัด และบริษัท อั่ย เชียงใหม่ ไทยจงโย่วเซียน กงซือ จำกัด

          รูปแบบมีการดำเนินการในลักษณะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท และให้บุคคลสัญชาติไทยเข้าถือหุ้นในบริษัทแทนคนต่างด้าวสัญชาติจีน (นอมินี) เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตามกฎหมาย

          จากนั้น นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดิน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ทำหน้าที่สืบสวนและตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดยพบว่าบริษัทดังกล่าวมีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นนอมินีแทนคนต่างด้าว จึงเห็นชอบตามความเห็นของคณะทำงาน และมีคำสั่งให้ทั้ง 2 โครงการ ทำการจำหน่ายที่ดินทั้งหมดภายในโครงการ ภายในเวลา 180 วัน โดยโครงการบ้านฟ้าหลวง อ.สันกำแพง มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 41 แปลง และโครงการรัก เชียงใหม่ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 43 แปลง

          ที่ดินหางดงชี้จดนอมินีลดฮวบ

          ทั้งนี้ โครงการรัก เชียงใหม่ หรือ ICM RESORT ที่ติดป้ายประกาศขายบ้านและที่ดิน จำนวน 8 หลัง ตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยทางโครงการเป็นผู้ดำเนินการติดป้ายประกาศเอง กำหนดเดดไลน์ 180 วัน นับจากวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ลงนามคำสั่งให้ขายทอดตลาด

          สำหรับผู้สนใจซื้อทรัพย์ทั้ง 8 หลังดังกล่าว เงินที่ขายได้จะเป็นสิทธิของบริษัท โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะมีการสืบสวนตรวจสอบว่าคนที่มาซื้อและโอนกรรมสิทธิ์รายใหม่เป็นคนต่างด้าวอีกหรือไม่

          ขณะเดียวกันกรณีภายใน 180 วัน ยังไม่สามารถจำหน่ายขายทอดตลาดได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อาศัยอำนาจปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมที่ดิน มีอำนาจขายที่ดินและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ 5 ของราคาที่ขายได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 50 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นอกเหนือจากค่าธรรมเนียม ภาษีและอากร ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเรียกเก็บ

          นายอารักษ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งเน้นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนไทย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่ให้มีการถือครองที่ดินของคนต่างด้าว รวมถึงสืบสวนตรวจสอบอย่างเข้มข้นสำหรับนิติบุคคลที่จะเข้ามาดำเนินการจัดตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่ และมีข้อสังเกตว่า หลังจากมีการเอาผิดและบังคับดำเนินการตามกฎหมายกับโครงการรัก เชียงใหม่ ICM RESORT และโครงการบ้านฟ้าหลวงแล้วนั้น ปัจจุบันปริมาณการทำธุรกรรมในลักษณะการจดทะเบียนบริษัทที่เข้าข่ายเป็นนอมินีลดลงอย่างมาก

          เปิดปมถือหุ้นไขว้กลับไปกลับมา

          แหล่งข่าวจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้ง 2 บริษัท พบว่า บริษัทเชียงใหม่ เจี่ยหยวนไถ่ฯ จดทะเบียนก่อตั้งวันที่ 7 มีนาคม 2557 เงินทุนจดทะเบียน 11,000,000 บาท ผู้ถือหุ้นเป็นคนจีน คือ นางเชิน ฟูหลง (Mrs.Chen Furong) และผู้ถือหุ้นนิติบุคคล คือ บริษัท แกรนด์ โกลเด้น โกล จำกัด ตรวจสอบพฤติการณ์ย้อนหลังของบริษัทพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้นในลักษณะวนกลับไปกลับมา เพื่อให้สามารถจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ตามกฎหมาย รวมที่ดินจำนวน 33 แปลง

          ส่วนบริษัท อั่ย เชียงใหม่ ไทยฯ จดทะเบียนก่อตั้งวันที่ 22 ตุลาคม 2557 เงินทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท ผู้ถือหุ้น เป็นคนจีน คือ นายหลิว จึงปิง (MR. Lui Junbing) และนายเจียนหัว จาง (MR. Jianhua Zhang) และผู้ถือหุ้นนิติบุคคล บริษัท แกรนด์ โกลเด้น โกล จำกัด ตรวจสอบพฤติการณ์ย้อนหลังพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้นในลักษณะกลับไปกลับมา เพื่อให้สามารถจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ตามกฎหมาย จำนวนที่ดิน 10 แปลง

          เดดไลน์ขายทอดตลาด 4 ม.ค. 67

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทม์ไลน์การดำเนินการของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งที่ 2785/2566 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีมีเหตุสงสัยว่ามีการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว (ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 2515.2/ว 7665 ลงวันที่ 19 เมษายน 2566 เรื่อง มาตรการป้องกันการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว) เพื่อตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว

          คณะกรรมการได้ประชุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า บริษัท เชียงใหม่ เจี่ยหยวนไถ่ จงโย่วเชียน กงชือ จำกัด และบริษัท อั่ย เชียงใหม่ ไทยจงโย่วเซียน กงซือ จำกัด มีพฤติการณ์ถือครองที่ดินแทนบุคคลต่างด้าว ตามมาตรา 97 ซึ่งต้องจำหน่ายที่ดินตามมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

          โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดิน ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ให้บริษัทจำหน่ายที่ดินภายในกำหนดเวลา 180 วัน หลังจากนั้น สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาหางดง ได้มีหนังสือ ที่ ชม 0020.06/13903 ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 แจ้งให้บริษัทดำเนินการจำหน่ายที่ดิน รวม 43 แปลง ภายในกำหนดเวลา 180 วัน โดยมีกำหนดขายทอดตลาดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 มกราคม 2567 นี้

          “เรื่องดังกล่าวนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มีอำนาจดำเนินการเป็นไปตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 720/2547 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2547 เรื่อง มอบอำนาจของอธิบดีกรมที่ดิน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการปฏิบัติราชการแทน ซึ่งมีอำนาจสั่งการให้บริษัท จำหน่ายที่ดินในวิธีการจำหน่ายที่ดินให้เป็นไปตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2497) ออก ตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497”

 

 

ที่มา: