หั่นจีดีพีเหลือ 3.2% ห่วงสงคราม-น้ำมันแพง-เงินเฟ้อพุ่ง กนง.คงดอกเบี้ยหนุนศก.
กนง.มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง พร้อมหั่นจีดีพีรับศึกรัสเซีย-ยูเครน-น้ำมันแพงเหลือ 3.2% จ่อทำหนังสือแจง “คลัง” หลังเงินเฟ้อหลุดกรอบแตะ 4.9% ยันไม่ใช้ยาแรงยังสามารถควบคุมได้ เน้นดูแลการเติบโตเศรษฐกิจและเสถียรภาพเป็นหลัก ด้านคลัง หวังรัฐ-เอกชน จับมือ ผลักดันส่งออกให้โตเกินเป้าทดแทนท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมให้ความร่วมมือ ธปท. แก้ปัญหาเงินเฟ้อหยุดกรอบ
วานนี้ (30 มี.ค.) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 เหลือ 3.2% จากเดิม 3.4% ส่วนปี 2566 ปรับลดลงเหลือ 4.4% จากเดิม 4.7%
ทั้งนี้ ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 65-66 จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2565 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมาย ก่อนจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
โดย กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว การระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มากเท่ากับระลอกก่อนหน้า แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลให้ต้นททุนสินค้าสูงขึ้น แต่ไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรมที่อาจยืดเยื้อ และ ผลกระทบจากค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้นต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในกลุ่มเปราะบาง คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ในปี 2565 จากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนที่จะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ส่วนหนึ่งจากราคาพลังงานที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
“เงินเฟ้อที่สูงขึ้น อาจจะหลุดกรอบไปบ้าง เป็นเพียงระยะสั้นถึงปานกลาง คาดว่าเงินเฟ้อปรับลดลงตามกรอบเป้าหมายภายใน 1 ปี และเชื่อว่าไทยยังไม่ถึงภาวะ Stagflation ในบริบทของไทยจะแตกต่างจากสหรัฐฯ ดังนั้น การใช้ยาแรงในการคุมเงินเฟ้อจะมีผลเสียมากกว่า อีกทั้ง กนง.ต้องการให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดย กนง.เตรียมทำหนังสือเปิดผนึกถึงกระทรวงการคลังเพื่อชี้แจงกรณีอัตราเงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมาย”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายทางการเงินการคลังกับการขับเคลื่อน เศรษฐกิจไทยในปี 2565” ในการประชุมสามัญประจำปี ของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ว่า คาดการณ์ว่าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยปี 65 ขยายตัว 3.5-4.5% หากรัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตได้อีกอย่างน้อย 0.1-0.3%
ขณะที่ภาคการส่งออก ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 65 จากปี 64 ที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวกว่า 17% โดย 2 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกก็ขยายตัวได้กว่า 12% ซึ่งหาก ผลักดันให้ปีนี้สามารถเติบโตให้ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5% เป็น 10% ก็จะช่วยในแง่ภาพรวมของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังพร้อมสนับสนุนมาตรการกระตุ้นการ ท่องเที่ยว และการเร่งรัดเบิกจ่าย งบประมาณ งบลงทุน ของภาครัฐและ วิสาหกิจ เพื่อเป็นพลังการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับปัญหาด้านเงินเฟ้อนั้น นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลังและ ธปท. ได้ตั้งเป้าหมาย กรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 1-3% แต่ราคาพลังงานที่สูงขึ้นก็ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยภายนอก ที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่รัฐก็พยายามช่วยเต็มที่
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา