หอการค้า หนุนฉีดเงินเพิ่ม คนละครึ่ง
“หอการค้า"ชี้โควิดฉุดดัชนีเชื่อมั่นเดือน ธ.ค.ต่ำสุดรอบ 3 เดือน ทุบเศรษฐกิจอ่วม หนุนเพิ่มโครงการคนละครึ่ง เป็น 5 พันบาท ดันเปิดเฟส 3 พยุงเศรษฐกิจชี้หากล็อกดาวน์ทั้งประเทศศก.พังเดือนละ2 แสนล้าน
เมื่อวันที่ 7 ม.ค.64 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยว่าผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.63 อยู่ที่ 50.1 จาก 52.4 ในเดือน พ.ย.63 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 43.5 จาก 45.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 47.5 จาก 50.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 59.2 จาก 61.6
สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่เป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนการทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 จาก 3.6% มาที่ 3.2% จากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เปิดรับได้จะจำกัดกว่าที่ประเมินไว้
ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในไทยส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ,ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, การส่งออกและการนำเข้าของไทยเดือนพ.ย.63 ลดลง ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 52.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วง 11 เดือน เกินดุลการค้ารวม 23,512.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทำให้กังวลว่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก,ผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงกังวลรายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ ปัจจัยบวก ได้แก่ กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัวที่ 6.6% ดีกว่าที่ประเมินไว้จากเดิมที่หดตัว 7.8%,ภาครัฐดำเนินมาตรการ ประกอบด้วยโครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน,ช้อปดีมีคืน และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี
ทั้งนี้ ผลกระทบโควิดต่อเศรษฐกิจไทยหากควบคุมสถานการณ์ได้และล็อกดาวน์ไม่เข้มข้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเดือนละ 101,000 ล้านบาท หรือกระทบจีดีพีติดลบร้อยละ 0.63 ต่อเดือนและจีดีพีจะอยู่ที่ร้อยละ 0.9-2.2 แต่หากล็อกดาวน์ทั้งประเทศจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเดือนละ 200,710 ล้านบาทหรือกระทบจีดีพีติดลบร้อยละ 1.25 ต่อเดือน และจีดีพีจะอยู่ที่ติดลบร้อยละ-0.3 รวมทั้งหนี้ครัวเรือนมีโอกาสทะลุร้อยละ 90 ได้ในไตรมาสแรกของปี 2564 หากการล็อกดาวน์เข้มงวดขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะพยุงเศรษฐกิจควรใช้วงเงินไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการ กกร.เสนอแต่หากจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องใช้วงเงิน 4-6 แสนล้านบาท รวมทั้งหากจะกระตุ้นการใช้จ่ายมาตรการคนละครึ่งยังสามารถต่อยอดได้โดยอาจเพิ่มวงเงินจาก 3,500 บาทต่อคน เป็น 5,000 บาทต่อคน หรือเพิ่มจำนวนคนเข้าร่วมโครงการจาก 15 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ