หมื่นรายผวา ราคาที่ตกฮวบ

28 ก.พ. 2564 411 0

          ชาวบ้านหมื่นรายอ่วม ถนนตามผังอีอีซี 384 สาย ขีดทับบ้านเรือนประชาชน รวมตัวจี้ยกเลิก เหตุซื้อขายบ้านชะงัก ราคาที่ดินตกฮวบแบงก์ไม่กล้ารับจำนอง โวยสกพอ.-กรมโยธาฯ โฟกัส แผนโครงข่ายถนนใหม่-กำหนดระยะเวลาก่อสร้างให้ชัด ด้านอีอีซีรับพยายามหาทางออกให้แล้ว

          การบังคับใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้ครอบคลุม 5จังหวัด ประกอบด้วยกรุงเทพมหานครจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยองนับตั้งแต่ วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่10ธันวาคม 2562 เป็นต้นมา สร้างความวิตกไม่น้อยให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะ 3 จังหวัดอีอีซี

          ถนน384สายพ่นพิษ

          ทั้งนี้ เนื่องจาก ประชาชนร้องเรียนว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำหนด แนวถนนสายใหม่และขยายเขตทางเดิม มากถึง 384 เส้นทาง บรรจุลงในแนบท้ายประกาศฯ มองว่าข้ามขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยคนพื้นที่ไม่เคยล่วงรู้มาก่อน ขณะสกพอ. อมรับว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อน ได้พยายามแก้ปัญหาดึงเส้นทางใหม่ 54เส้นทางที่ยังไม่ผ่านการประชาพิจารณ์ แยกออกมาเป็นเป็นโครงการลักษณะแนะนำแต่ติดปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าไม่สามารถกระทำได้ต้องระบุไว้เป็นถนนโครงการตามผังเมืองดังเดิมเพราะเกรงว่าอนาคตอาจไม่สามารถเสนอขอจัดสรรงบประมาณก่อสร้างได้

          ชาวบ้านหมื่นรายอ่วม

          ความเดือดร้อนเริ่มปรากฏ สถานการณ์โควิด-19ระบาดเจ้าของที่ดินจำนวนไม่น้อย ประสบวิกฤติต้องการขายทรัพย์สิน ปรากฏว่า สำนักงานที่ดิน สถาบันการเงิน ทักท้วง อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตทาง ซึ่งมีผลในทางกฎหมาย ขณะคนจะซื้อไม่กล้าเสี่ยงและไม่ทราบแน่ชัดว่า โครงการก่อสร้างถนน จะเกิดขึ้นเมื่อใดขณะถนนตามกฎกระทรวงผังเมืองรวมที่เคยกำหนดไว้ 256สาย ดำเนินการไม่ถึง 10 เส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี หัวเมืองเศรษฐกิจใหญ่ตามผังเมืองเพียง 2 เส้นทางในรอบ30ปี สำหรับทางออก ชาวบ้าน ส่วนใหญ่ต้องการ ให้หน่วยงานภาครัฐกำหนดเส้นทางที่จำเป็นเร่งด่วน และระยะเวลาที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการเมื่อใดเพื่อให้ได้เตรียมความพร้อมหากต้องหาที่อยู่ใหม่ หากไม่ดำเนินการใดๆ ประเมินว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบมากกว่า10,000 คน โดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ที่ขีดแนวถนน ทับบ้านเรือนประชาชนมองว่า เป็นการรอนสิทธิ์ทั้งที่เป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง

          เส้นทางทับชุมชนอื้อ

          เริ่มจาก จังหวัดชลบุรี นางสาว มณฑาบริบูรณ์ธรกิจ ลูกบ้านในหมู่บ้านปิยะวัฒน์ ในฐานะกรรมการหมู่บ้าน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ“ว่า หมู่บ้านปิยะวัฒน์ ได้รับผลกระทบอย่างมาก จาก แนวถนนผังเมืองอีอีซี พาดผ่าน อย่างไรก็ตาม ลูกบ้านทั้งกว่า 300 หลังคาเรือน โดยไม่ยินยอมให้โครงการถนน ฉ 49 เกิดขึ้น เนื่องจากภายในหมู่บ้านมีเขตทางกว้าง16เมตร แต่ ทางราชการต้องการขยายถนนนเพิ่มอีก 20เมตรโดยไม่รวม บาทวิถีให้ กินเนื้อที่บ้านเรือนประชาชน ทั้งแถบ ขณะเดียวกัน หากถนนภายในหมู่บ้านปิยะวัฒน์เป็นสาธารณะมีบุคคลภายนอกเข้าออก เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

          นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบ โฉนดที่ดิน ที่อยู่ในเขตทาง สำนักงานที่ดินและสถาบันการเงินไม่รับรองเนื่องจากอยู่ใน แนวถนนอนาคต อีกทั้งมูลค่าลดลง ถึงขั้นไม่มีใครซื้อ และที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึง กรมโยธาธิการกระทรวงหมาดไทย ศูนย์ดำรงค์ธรรม จังหวัดชลบุรี และ เลขาธิการอีอีซี คำตอบที่ได้รับคือกฎหมายบังคับใช้แล้ว รอเสนอคัดค้านช่วงจัดทำผังเมืองรวม 30 อำเภอ ซึ่งขณะนี้ อำเภอสัตหีบผังเมืองมีผลบังคับใช้แล้วและยังยืนยันแนวถนนตามผังอีอีซี

          ตัดถนนเส้นไหนต้องชัด

          สอดคล้องกับลูกบ้านโครงการเพลินวิว เทศบาลตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการถนนสายฉ 66 เขตทางกว้าง 20เมตร ระบุว่า ต้องการเรียกร้องให้ รัฐ แจกแจงให้ชัดเจนว่าต้องการก่อสร้างโครงการถนน ที่ดำเนินการได้จริง ตามแผน กี่เส้นทาง ใช้เวลากี่ปีเพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อม หาที่อยู่ใหม่ แต่หาก ไม่มีความชัดเจน ขีดแนวเส้นทางในลักณะหว่านเช่นนี้ แน่นอนว่า ชาวบ้าน ทุกรายเดือนร้อนแน่ แม้จะยอมรับว่าเขตอีอีซี ต้องรองรับความเจริญจะมีคนเข้าพื้นที่ในระยะ 20 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคนแต่ทุกโครงการต้องชัด

          ทุบราคาที่ดินร่วง

          ขณะนายวินัย พ้นภัยพาล อดีต กำนัน เทศบาลตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ได้ทำความเข้าใจชาวบ้านว่า ถนนมากถึง 384เส้นทางหาก จะดำเนินการจริงต้อง ทำประชาพิจารณ์ทุกครั้ง เมื่อประชาชน ไม่ต้องการ ท้องถิ่น ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน

          แต่ทั้งนี้ยอมรับว่า ได้รับว่าการกำหนดแนวถนนในลักษณะเช่นนี้อาจจะทบ ในเรื่องของ สถาบันการเงินไม่รับจำนอง เช่นเดียวกับการซื้อขายที่ดินในท้องที่เทศบาลอ่างศิลาซึ่งตนเองเป็นผู้ขาย ปรากฎว่าถึงเวลาจ่ายเงินเตรียมโอนกรรมสิทธิ์ มูลค่า 92 ล้านต้องลดลงเหลือ 90 ล้านบาท เพื่อให้ขายได้

          อีอีซีแจงเร่งแก้ปัญหา

          ด้านนางทัศนี เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชนสกพอ.ระบุว่า ถนนในโครงการอีอีซียอมรับว่ามีปัญหามาก ยอมรับว่าถนนทั้ง384 สาย มีโครงการใหม่ที่สกพอ.เสนอเพียง 54 เส้นทาง ซึ่งยังไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ นอกนั้นเป็นโครงการเก่าแทบทั้งสิ้นทางออกเพื่อ ลดผลกระทบของชุมชนจึงขอนำโครงการถนนทั้ง 54 เส้นทางออกเป็นถนนแนะนำแทนถนนในโครงการ

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นติดปัญหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 3 จังหวัด, กรมทางหลวง,กรมทางหลวงชนบทไม่ยินยอมโดยให้เหตุผลว่าหากไม่ระบุเป็นถนนในโครงการอีอีซี จะไม่สามารถเสนอของบประมาณพัฒนาได้
         

ที่มา: