หนุน กู้เพิ่ม 1 ล้าน ล. ตุนกระสุน-พลิกฟื้นเศรษฐกิจ
สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ข้อเสนอของ ธปท.ที่ให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่ง ส.อ.ท.เรียกร้องมาตลอด โดยจะเห็นว่าตอนนี้รัฐบาลใช้เงินไปกับการเยียวยาเกือบทั้งหมด ดังนั้นควรมีเงินสำรองไว้สำหรับการฟื้นฟูประเทศในช่วง หลังจากนี้ เมื่อการเยียวยาจบลง ประชาชนเริ่มกลับมา มีรายได้อีกครั้ง รายได้เหมือนเดิม หรือมากขึ้น ซึ่งการใส่เงินเข้าไปฟื้นฟูจะทำให้รัฐมีรายได้ และทำให้หนี้สาธารณะลดลง
นอกจากนี้ จะส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของไทย มีโอกาสลดลงด้วย จากปัจจุบันพุ่งสูงกว่า 90% จากปกติอยู่ที่ 60-70% เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีเงินอยู่ในมือ จะเห็นว่า ส.อ.ท.พูดเรื่องนี้มานานมากแล้ว ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ช่วงแรกๆ แต่ไม่มีใครเห็นด้วย บอกว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป ซึ่งผมเสนอกู้รวม 2 ล้านล้านบาท แต่ของ ธปท.เสนอล่าสุดคือกู้รวม 2.5 ล้านล้านบาท มากกว่าที่ผมเสนออีก
การกู้เงินของรัฐบาลมีความจำเป็น ต้องมีเงินสำรองในการใช้จ่ายยามจำเป็น ตอนนี้เหลือเงินอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท แต่ก้อนนี้สามารถทำได้เพียงการเยียวยา ซึ่งมีหลายเรื่องต้องใช้จ่าย อาทิ การรักษาผู้ป่วยจากโควิด-19 การช่วยเหลือ ภาคเอกชนในเรื่องของชุดตรวจโควิด แอนติเจน เทสต์ คิท (เอทีเค) ต้องเยียวยาพวกนี้
นอกจากนี้ ต้องเยียวยากลุ่มได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป หลังรัฐบาล มีมาตรการล็อกดาวน์ ตัวเลข 5 แสนล้านบาท จึงเหมาะแก่การกันไว้เยียวยาก่อน สำหรับการกู้เงินเพิ่มจะเหมาะสมกับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างสาธารณูปโภคใหม่ๆ การทำโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้า
อย่างไรก็ตาม เวลานี้อีกเรื่องจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลคือ การแก้ปัญหาเรื่องวัคซีน ต้องจัดหาอย่างเร่งด่วน ต้องมากพอ เพราะประชาชนกลัวการติดโรค ไม่กล้าใช้จ่าย ทำให้มีสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างในปัจจุบันนี้ ดังนั้นรัฐบาลต้องปูพรมฉีดวัคซีน ให้ได้มากที่สุด ต้องเปิดคอขวดให้การกระจายวัคซีนไปทุกโรงพยาบาลอย่างทั่วถึง
ล่าสุดวัคซีนมีโอกาสที่ทั่วทั้งโลกจะใช้เข็ม 3 จำนวนมาก ทำให้วัคซีนมีโอกาสขาดตลาดได้ ถ้ารัฐบาลไม่เร่งจัดหา นำเข้ามาในไทย มีโอกาส ที่ประเทศอื่นจะต้องการวัคซีน มีการกว้านซื้อในตลาดมาใช้ อาจทำให้บางยี่ห้อผลิตออกมาไม่เพียงพอกับความต้องการตลาด หรือบางยี่ห้อประสิทธิภาพไม่เหมาะสมกับสายพันธุ์ในปัจจุบัน จะเกิดดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ที่ผ่านมาประเทศไทยคิดว่าวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคจะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยได้ แต่สุดท้ายประสิทธิภาพกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดก็ช่วยไม่ได้มาก ดังนั้นรัฐบาลต้องดูเรื่องนี้ด้วย
ส่วนกรณีที่ ธปท.เสนอให้รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษี อาทิ ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 7% นั้น ต้องดูว่าเมื่อประเทศไทยคุมสถานการณ์โควิดได้และเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟู แล้ว เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นถึงระดับไหน ถ้าเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ การปรับขึ้นแวตก็สามารถทำได้ อาจขึ้น 0.5-1.0% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้สภาพทางการเงินการคลังของรัฐบาลเข้มแข็งขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยว่าเป็นอย่างไร
หากหนี้ครัวเรือนส่งสัญญาณดีมีระดับลดลง ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นเมื่อไหร่ก็จะทำให้การขึ้นแวตมีโอกาสมากขึ้น เพราะปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนไทยขึ้นมาระดับกว่า 90% หากสามารถลดหนี้ลงไปเหลือระดับ 60-70% จะถือว่าเป็นสัญญาณที่สามารถขึ้นแวตได้
ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)
ส่วนตัวเห็นด้วยที่รัฐบาลจะต้องกู้เงินเพิ่มอีก เนื่องจากเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของวัคซีน และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังทรงตัวอยู่ที่วันละ 2 หมื่นราย ส่งผลให้จากเดิมที่ สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายภายในช่วงปลายปี 2564 อย่างที่เคยคาดหวังไว้ อาจจะ ไม่ได้ง่ายแบบนั้น
อีกทั้งแม้ว่าในปี 2565 รัฐจะจัดหาวัคซีน ได้เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าการติดเชื้อก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งในแง่ของเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบและทำให้หยุดชะงักลง เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าในปี 2565 ก็ยังไม่ฟื้นกลับมาแน่นอน ตอนนี้เครื่องมือเดียวที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไปได้ ในตอนนี้คือ ภาคการส่งออก แต่ต้องยอมรับว่า ภาคการส่งออกอย่างเดียวอุ้มเศรษฐกิจทั้งประเทศไม่ได้ เพราะการที่เศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ต้องมีผู้บริโภค แต่ปัจจุบันบริโภคเปลี่ยนเป็นแรงงานแฝงเพราะตกงานในช่วงโควิดระบาดหนักไม่สามารถประกอบอาชีพได้ มีจำนวนกว่า 2.8 ล้านคน ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่าย โดยสิ่งที่รัฐบาล จะต้องทำคือต้องเร่งเยียวยาแรงงานกลุ่มนี้
ปัจจุบันรัฐบาลยังเหลืองบประมาณในการ ช่วยเหลือ ประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่า เงินจำนวนนี้รัฐบาลจะนำออกมาใช้ในช่วง ไตรมาสที่ 3-4/2564 ดังนั้น จึงเห็นพ้องกับ ธปท. ที่ให้รัฐกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท หรืออย่างน้อย กู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง
โดยรอบนี้อยากเสนอให้รัฐบาลวางแผนการใช้งบประมาณในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันรัฐ ใช้งบประมาณแบบไม่ได้วางแผน วัดได้จากมีโครงการใหม่ๆ ผุดขึ้นมาใหม่เกือบทุกสัปดาห์ การทำงานในลักษณะนี้เปรียบเสมือนการหว่านแห อาทิ การช่วยเหลือแรงงานในมาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งการช่วยเหลือกลุ่มนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐไม่ได้ตรวจสอบลงลึกว่าที่ให้เงินช่วยเหลือไปบางประเภทแรงงานมีความเดือดร้อนจริงหรือไม่ เป็นต้น
ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลใช้งบประมาณที่มี ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง หรือกลุ่มเปราะบาง โดยต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะช่วยกลุ่มไหนอย่างไร เพราะแต่ละกลุ่มมีความเดือดร้อนไม่เหมือนกัน หรือแยกประเภทว่ากลุ่มไหนมีแนวโน้ม ว่าจะฟื้นตัว หรือยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว เพื่อแยกการช่วยเหลือได้อย่างชัดเจนและตรงจุด แม้แต่ภาคการส่งออก ที่อาจได้รับผลกระทบด้านการผลิต กลุ่มนี้เองก็ต้องถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้อง ช่วยเหลือ แต่วิธีช่วยเหลือต้องแตกต่างจากกลุ่มเปราะบางเพราะปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างน้อยควรได้เห็นภาพแผนการช่วยเหลือที่เป็นระบบในปี 2565 ตลอดทั้งปี
เมื่อวางแผนแล้วต้องมาดูผลว่าได้ผล อย่างไรบ้าง สามารถช่วยเหลือได้มากน้อยแค่ไหน หรือช่วยประทังได้อย่างไรบ้าง เพื่อปรับปรุง วิธีการช่วยเหลือให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญ คือในเรื่องของ สภาพคล่อง หากรัฐยังใช้วิธีปล่อยเงินกู้ ตามเดิม ยังไงการช่วยเหลือดังกล่าวก็ไปไม่ถึง กลุ่มเปราะบาง จากที่ได้หารือร่วมกับหลายสถาบันทางการเงิน หากยังใช้เงื่อนไขเดิมในการปล่อยกู้ ไม่ว่าอย่างไรกลุ่มเปราะบางก็เข้าไม่ถึงเงินแน่นอน เพราะกลุ่มเหล่านี้ไม่มีรายได้ ไม่มีหลักประกันที่ชัดเจน เมื่อขอกู้ธนาคารก็ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้ จากที่จะได้ช่วยกลุ่มเปราะอาจกลายเป็นไปช่วยเหลือกลุ่มที่แข็งแรงอยู่แล้วแทน
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ต้องจัดตั้งกองทุนเอสเอ็มอีขึ้นมา เพื่อมาเยียวยาฟื้นฟูกลุ่มเปราะบางได้อย่างตรงจุด รวมทั้งต้องลดเงื่อนไขในการปล่อยกู้ อาทิ การเช็กรายได้ หรือกำไรที่ธุรกิจนั้นมี เป็นต้น หากสามารถดำเนินการได้ เชื่อว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก็จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้นต่อไป
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ การกู้เงินเพิ่มของรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากไม่มีงบประมาณใหม่ๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเลย ก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องซบเซาอีกเป็นเวลานานเนื่องจากมองว่าการระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้หนักกว่ารอบแรกและรอบที่สองอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการส่วนมากต้องหยุดดำเนินกิจการ ซึ่งกระทบกับกำลังซื้ออย่างมาก นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจที่ยังเปิดได้อยู่ก็รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยเช่นกัน เพราะจากกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้รายได้ ก็ลดตาม
ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก เพราะว่าในแต่ละเดือนที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะการระบาดของโควิด-19 แบบนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็หดหาย ทำให้มีเม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ 2-3 แสนล้านบาทต่อเดือน รวมทั้งเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 ที่ผ่านมานี้ ก็ดีขึ้นได้ เพราะจากแรงกระตุ้นจากมาตรการของรัฐ ที่ช่วยเยียวยาและกระตุ้นกำลังซื้อ เพราะว่ารายได้จากภายนอกประเทศนั้น ในตอนนี้ได้มาจากทางด้านเดียวเลย คือ ภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวอยู่เท่านั้น ส่วนภาคการบริโภคหรือกำลังซื้อจากภายในประเทศหากไม่ได้รับการกระตุ้นจากรัฐบาล ก็คงทำให้กำลังซื้อแทบจะไม่เหลือเลย
เมื่อรัฐบาลกู้เงินมาแล้วควรนำไปใช้อย่างไรนั้น แน่นอนว่าต้องนำมาใช้ในนโยบายหรือมาตรการเพื่อการกระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ หรือไม่ก็ควรเป็นในรูปแบบของการฟื้นฟูประชาชนและภาคธุรกิจ ในตอนนี้มีธุรกิจหลายราย และหลายส่วนที่ต้องหยุดไป หรือล้มไปแล้วและลุกไม่ไหวแล้วก็มี แต่หากมีส่วนที่ที่ยังพอลุกขึ้นมาเพื่อสู้ต่อได้อยู่ รัฐบาลก็ควรจะสนับสนุน เยียวยาและฟื้นฟูเพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้
ในตอนนี้มีคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก เมื่อปีที่แล้ว โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ยังมีคนจำนวนมากตกงานไป เพราะกิจการหยุดหรือเลิกจ้าง และยังไม่สามารถหางานใหม่ทำได้ ก็คงต้องหาทางที่จะช่วยให้คนเหล่านี้ ให้หางาน ได้ โดยเติมเข้าไปอยู่ในภาคธุรกิจประเภท อื่นๆ ได้
หมายเหตุ - ความเห็นภาคเอกชน กรณี นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอทางออกเศรษฐกิจไทยให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน