หนุนขยายดูแลเงินฝาก1ปี

07 เม.ย. 2563 733 0

          นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้เลื่อนการคุ้มครองเงินฝากประชาชนเหลือ 1 ล้านบาทออกไปอีก 1 ปี จากต้องเริ่มมีผลในเดือน ส.ค. 63 เป็นเดือน ส.ค. 64 มองว่าเพื่อลดผลกระทบคนแห่ถอนเงินฝาก จากความกังวลของประชาชน เพราะเมื่อใกล้เวลามีผลบังคับใช้จะเริ่มมีข่าวถูกส่งต่อจำนวนมากบนโซเชียลออนไลน์ว่าการคุ้มครองเงินฝากของธนาคารลดลง ซึ่งจะยิ่งให้ประชาชนตื่นตระหนกได้ในช่วงเวลานั้นท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแล้วหรือไม่

          ส่วนการลดนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟู เอฟไอดีเอฟ) จาก 0.46% ต่อปี มาเหลือ 0.23% ต่อปีนาน 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปลดดอกเบี้ยต่าง ๆ ช่วยเหลือลดภาระให้ประชาชนนั้น หวังว่าสมาคมธนาคารไทยจะรับไปดำเนินการและส่งต่อนโยบายให้สถาบันการเงินตอบรับไปสู่ประชาชนให้ได้ โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการลดนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯจะทำให้ต้นทุนธนาคารลดลง และยืนยันฐานะการเงินธนาคารแข็งแกร่งมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 3.7 ล้านล้านบาท

          ทั้งนี้เงินที่นำส่งกองทุนฟื้นฟูฯจะคิดจากฐานเงินฝากซึ่งปัจจุบันมีอยู่สูง 13.2 ล้านล้านบาท ในขณะที่สินเชื่อของธนาคารที่จดทะเบียนในไทยมี 12.7 ล้านล้านบาท เมื่อลดอัตรานำส่งทำให้ธนาคารประหยัดต้นทุน และจะนำมาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งดอกเบี้ยอ้างอิง 3 ประเภท ได้แก่ ดอกเบี้ยเรียกเก็บจากรายย่อยชั้นดี หรือเอ็มอาร์อาร์ ดอกเบี้ยเรียกเก็บจากรายใหญ่ชั้นดี หรือเอ็มแอลอาร์ และดอกเบี้ยเรียกเก็บจากรายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือเอ็มโออาร์

          นายเชาว์ กล่าวว่า การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้ ธปท.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนได้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นส่วนช่วยประคับประคองผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้สามารถหยิบยืมเงินเงื่อนไขผ่อนปรน ซึ่งต้นทุนธปท.มีต่ำมาก ในขณะ นี้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐมีจำกัด และ ยังส่งผลดีให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องนำไปซ่อมบำรุงในช่วงที่โรงงานปิดชั่วคราว และขาดรายได้ เพราะเมื่อวิกฤติคลี่คลาย ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ทันที ไม่ต้องรอเวลาฟื้นฟูให้เสียเวลาอีก

          “ซอฟต์โลนของ ธปท.จะช่วยเศรษฐกิจ การรักษาดูแลเศรษฐกิจในช่วงต่อไป เพราะผู้ประกอบการต้องจ้างคนงานดูแลแม้บางแห่งจะปิดกิจการชั่วคราว และยังต้องซ่อมเครื่องจักร จึงต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพราะถ้าสถานการณ์ปกติ จะทำให้ธุรกิจกลับมาได้ดีกว่า ส่วน พ.ร.ก.กู้เงินที่จะใช้มูลค่ามหาศาล การใช้งบประมาณ ใช้งบกลาง และแจกจ่าย 5,000 บาท จะต้องครอบคลุมจำนวนคนที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น มองว่าอาจต้องมีมาตรการอื่นออกมาในระยะต่อ ๆ ไป จึงต้องมีเงินไว้รองรับมาตรการ”

ที่มา: