หนี้ครัวเรือนพุ่ง14.6ล้าน คลังร่วมกับธปท.เร่งแก้หนี้

02 ก.ย. 2565 488 0

หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลัง ที่เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้างจากสถานการณ์โควิด 19 ปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจไทยกลับมา ทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง (K-shaped) ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุด จึงจำเป็นต้องดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ทันเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ โดยปัจจุบันหนี้คลังเรือนอยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90% ของจีดีพี

          ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตรงจุด และทันการณ์ยิ่งขึ้น กระทรวงการคลัง กับ ธปท. จึงร่วมกันจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” โดยการจัดงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก จะเป็นการเปิดช่องทางการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้และยังไม่ได้ความช่วยเหลือกับเจ้าหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 2 เดือน

          โดยในครั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้จับมือกับสมาคมสถาบันการเงินต่างๆ และชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยขณะนี้ มีสถาบันการเงินตอบรับเข้าร่วมแล้ว 56 ราย ครอบคลุมหนี้จากสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถ จำนำทะเบียนรถ นาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อทุกประเภทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และระยะที่สอง กระทรวงการคลัง ธปท. ร่วมกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจะเพิ่มโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินของรัฐ และจะจัดงานมหกรรมสัญจร ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะจัดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566

          นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่าการแก้ไขหนี้ให้ กับประชาชนและข้าราชการได้ดำเนินการมา ระยะหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยภาคประชาชนมีโครงการต่างทั้งของสถาบันการเงินโครงการแก้หนี้ของธปท.ในส่วนของหนี้ข้าราชการส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตร กระทรวงศึกษาธิการมีการเร่งแก้ไขได้ระยะหนึ่ง โดยหนี้ข้าราชการตำรวจ ล่าสุดเดือนสิงหาคม มีเข้าโครงการประมาณ 7,205 ราย แก้ไขแล้ว กว่า  5,400 ราย โดยมีการลดดอกเบรี้ย และ ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการประมาณ 47 แห่ง ส่วนข้าราชการครู มีสมาชิกสหกรณ์ประมาณ 401,300  ราย ปรับโครงสร้างหนี้ 3,600 ราย คาดว่าการปรับโครงสร้างหนี้ ดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาหรือลดภาระให้กับภาคครัวเรือน นอกเหนือจาการเพิ่มรายได้ให้กับภาคประชาชน

ที่มา: