APEC ปั๊มชีพจรอีอีซี ตั้งธงดึงต่างชาติลงทุน 2.2 แสนล้าน

06 ม.ค. 2565 682 0

        ปี 2565 จะเป็นปีที่ครบกำหนดแผนการลงทุน 5 ปี ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลได้เริ่มต้นไว้ ซึ่งจะมีการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 4 โครงการหลัก (รถไฟ/สนามบิน/2 ท่าเรือ) งบประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท (ระหว่างปี 2561-2565) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระจายการลงทุนสู่ระดับภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

          ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 7/2564 ครั้งสุดท้ายของปี 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานในอีอีซีก่อนเสนอเข้า กบอ.อีกครั้งในเดือนมกราคม 2565 นี้

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มองว่า ภาพรวมการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีอีก 5 ปีต่อไป คาดว่าจะมีมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนใน 4 โครงการหลัก ทั้งยังจะมีการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในดิจิทัลอุตสาหกรรม BCG ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจากนี้ โดยจะใช้โอกาสการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปกในเดือน พ.ค. ปี 2565 ดึงดูดการลงทุนเชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนในอีอีซีจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ไม่น้อย 1.5% ต่อปี

          อัพเดตการลงทุนในอีอีซี

          สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ในอีอีซี ซึ่งมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สนามบิน อู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง มูลค่าลงทุนรวม 654,921 ล้านบาท เป็นการลงทุนภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท คิดเป็น 64% ลงทุนภาครัฐ 238,841 ล้านบาท คิดเป็น 36% โดยภาคเอกชนจะให้ผลตอบแทนภาครัฐ 440,193 ล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 210,352 ล้านบาท ทั้งหมดมีความคืบหน้าไปอย่างมาก หากสำเร็จจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชนคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

          ขณะที่ความก้าวหน้าการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่คาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2565 จะช่วยเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 พัฒนาเกษตรสมัยใหม่ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และความพร้อมพัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัยเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญใกล้เสร็จสมบูรณ์

          ส่วนโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบการแพทย์จีโนมิกส์ (ศูนย์ จีโนมิกส์) เพื่อยกระดับให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข และแผนการขับเคลื่อนการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ และจะทำให้เกิดการลงทุนศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี และบริการที่เกี่ยวข้อง

          ล่าสุดสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สกพอ.ได้ลงนามในสัญญาจ้าง และสัญญาเช่าที่ ให้บริการถอดรหัสพันธุกรรม กับกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชน 50,000 ราย ใน 5 ปี และจัดเก็บเป็นข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและเลือกการรักษาโรคที่ถูกต้องเป็นต้นแบบในพื้นที่อีอีซี การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รักษาได้ตรงอาการ ไม่ป่วยหนัก และมีสุขภาพดีในอนาคต

          เชื่อมอีอีซี-อาเซียน

          ไม่เพียงมุ่งพัฒนาพื้นที่อีอีซีเท่านั้น แต่ทาง กบอ.มีเป้าหมายให้ไทยก้าวสู่ประตูการค้า การลงทุน ศูนย์กลางคมนาคมโลจิสติกส์ของภูมิภาค เน้นสร้างความร่วมมือกลุ่มประเทศ CLMVT และจีนตอนใต้ รองรับการเติบโตของอีอีซีในอนาคต เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชนในการเดินทาง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรม

          โดยได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

          โดยมีกรอบการพัฒนา ได้แก่ 1) พัฒนาและส่งเสริมการขนส่งสินค้าระบบรางและทางน้ำเป็นระบบหลัก 2) ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 3) เชื่อมต่อโครงข่ายถนน ปรับปรุงช่วงถนนคอขวดแก้ปัญหาจราจรหลักในอีอีซี 4) พัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ นิคมอุตสาหกรรม เมืองที่จะพัฒนาในอนาคต และ 5) ใช้เทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะจัดการจราจรและการขนส่ง พร้อมทั้งยกระดับโครงข่ายคมนาคม ด้วยมาตรการเชิงรุกและเทคโนโลยีสมัยใหม่

          ธุรกิจ 3 จังหวัดคึกคัก

          ขณะที่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ธุรกิจในพื้นที่อีอีซี ปัจจุบันมีจำนวน 76,058 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1.51 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น จ.ชลบุรี 55,047 ราย คิดเป็น 72.38% จ.ระยอง 14,666 ราย คิดเป็น 19.28% และ จ.ฉะเชิงเทรา 6,345 ราย คิดเป็น 8.34%

          แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิดในช่วง 2 ปี ทำให้จำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ 3 จังหวัดอีอีซีไม่คึกคักเท่าที่ควร เทียบในช่วง 3 ปีตั้งแต่ปี 2561-ช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) 2564 (กราฟิก) พบว่า จ.ฉะเชิงเทรา มีจำนวนธุรกิจเพิ่มจาก 545 เป็น 619 ราย เพิ่มขึ้น 74 ราย, จ.ชลบุรี มีจำนวนธุรกิจตั้งใหม่ลดลงจาก 5,216 ราย ลดลง 787 ราย เหลือ 4,339 ราย และ จ.ระยอง จาก 1,317 ราย เพิ่มขึ้น 4 ราย เป็น 1,321 ราย

          ล่าสุด 11 เดือนแรก ปี 2564 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด 6,279 ราย เพิ่มขึ้น 9.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 5,745 ราย ส่วนทุนจดทะเบียนมูลค่า 18,180.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.70% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน 16,573.56 ล้านบาท  โดย 69.10%

          สำหรับธุรกิจที่ยังดำเนินกิจการอยู่ สูงสุด 3 อันดับ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ภาคการผลิต (ธุรกิจกลึงกัดไสโลหะ ธุรกิจ ติดตั้งเครื่องจักรอุตสาหกรรมและอุปกรณ์ และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์)

          กลุ่มขายส่ง/ปลีก (ธุรกิจขายส่งเครื่องจักรอื่น ๆ ธุรกิจขายส่งเครื่องจักรเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม และธุรกิจขายปลีกวัสดุก่อสร้าง) และกลุ่มธุรกิจบริการ (ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจขนส่ง ขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร)

          ทุนญี่ปุ่น สูงสุด

          และเป็นที่น่าสังเกตว่า การถือหุ้นของต่างชาติในนิติบุคคลไทย คิดเป็น 54.47% ของทุนทั้งหมด โดยญี่ปุ่นมากที่สุด คิดเป็น 46.71% รองลงมา คือ จีน 12.67% และสิงคโปร์ 5.54%

          ทั้งนี้ ทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนผลิต ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมธุรกิจผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และผลิตยางล้อและยางใน  ส่วนจีนลงทุนผลิตยางล้อและยางใน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ สำหรับยานยนต์  และอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และสิงคโปร์ลงทุนผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผลิตยางล้อและยางใน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์

          จ้างงาน 32,000 ตำแหน่ง

          อย่างไรก็ตาม จากนี้หากสามารถฟื้นการลงทุนในอีอีซีได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าพื้นที่โดยรอบจะมีการพัฒนาและมีการจ้างงานได้มากขึ้น โดยคาดว่าระหว่างปี 2566-2570 ซึ่งเป็นช่วงการก่อสร้างจะเกิดการจ้างงาน 20,000 ตำแหน่ง/ปี และในปี 2571-2580 ประมาณ 12,000 ตำแหน่ง/ปี เป็นความหวังหนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมาได้

ที่มา: