ส่วนต่อขยายสีชมพู ตอกเข็ม20มิ.ย.นี้

31 พ.ค. 2565 383 0

         “รฟม.” ยันส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูโปร่งใส รัฐไม่เสียประโยชน์ เอกชนลงทุน 4.2 พันล้าน พร้อมแบ่งรายได้ เตรียมตอกเสาเข็ม 20 มิ.ย.นี้

          นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี ปัจจุบัน รฟม.เตรียมให้ผู้รับจ้าง เข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน และจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568

          ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารส่วนต่อขยายในปีแรกของปีที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 7,000 คน/เที่ยวต่อวัน ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารสายหลักจะอยู่ที่ 12,000 คน/เที่ยวต่อวัน ขณะที่อัตราค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายคิดอัตราแรกเข้า 14 บาท หลังจากนั้นคิดค่าโดยสารเพิ่ม 3 บาทต่อสถานี

          นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า การลงทุนโครงการนี้ ภาครัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และ รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งผลตอบแทนเพิ่มเติม กรณีมีผู้โดยสารสูงกว่าประมาณการ ทั้งนี้ รฟม.ยังมีเป้าหมายให้โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นต้นแบบของการดำเนินโครงการอื่นๆ ในอนาคต ที่มีการสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าสายรอง เป็นเสมือนฟีดเดอร์ขนส่งผู้โดยสารเข้าสู่รถไฟฟ้าสายหลัก เพราะจะทำให้โครงข่าย รถไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสการเดินทางแก่ประชาชนและเพิ่มรายได้ให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายหลักด้วย

          ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี  วงเงิน 4.2 พันล้านบาท เอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าสัว นั้น รฟม.ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ซึ่งโครงการนี้เป็นข้อเสนอพิเศษของบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมเนล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานสายสีชมพูส่วนหลัก ช่วงแคราย - มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) ที่เสนอลงทุนเพิ่มเติม

          สำหรับโครงการนี้ เอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการทั้งหมด ทั้งในส่วนของงานโยธาและงานเวนคืนที่ดิน ซึ่งรฟม.พิจารณาข้อเสนอแล้วพบว่าเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและสาธารณะ โดยเฉพาะผลประโยชน์กับประชาชน เพราะแนวเส้นทางส่วนต่อขยายจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าออกเมืองทองธานีให้แก่ประชาชน เพราะพื้นที่บริเวณเมืองทองมีชุมชนขนาดใหญ่ ทั้งคอนโดมิเนียมสูงไม่น้อยกว่า 20 ชั้น สถานที่ราชการและสถาบันการศึกษา จึงมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก และมีการจราจรที่หนาแน่น

         (ภาพจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย)

ที่มา: