สินเชื่อแบงก์9เดือนโต5.3%
ตลาดสินเชื่อ 9 เดือนยังเป็นบวก จับตากลุ่มท่องเที่ยว-อสังหา ต้องประคองกันต่อ แต่กลุ่มแพกเกจจิ้ ยังแกร่งรับอานิสงส์การค้าออนไลน์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน ความต้องการสินเชื่อทั้งปีอาจชะลออยู่ที่ 4.5-5% จากเดิมคาดทั้งระบบขยายตัวกว่า 6% สาเหตุภาวะเศรษฐกิจยังค่อยๆฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
การระบาดของโควิด-19 กระทบต่อสภาพคล่องผู้ประกอบการจากรายได้ที่หายไป โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แม้ว่ารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) เพื่อหวังเพิ่มสภาพคล่องและยืดสายป่านให้ผู้ประกอบการ ให้ก้าวผ่านช่วงที่ยากลำบากนี้ไปได้ แต่ก็ยังทำให้ผู้ประกอบการบางรายยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เหมือนเดิม
นอกจากคุณสมบัติของผู้ประกอบการเอง ที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีรายย่อยขาดหลักประกันหรือผลการดำเนินงานขาดทุน จนไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ได้ เพราะอีกฝั่งที่น่ากังวลสำหรับสถาบันการเงิน ยังเป็นเรื่องคุณภาพสินเชื่อด้วย ที่มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากธปท.พบว่า สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ สิ้นเดือนกันยายน 2563 เพิ่มขึ้น 654,870 ล้านบาทหรือ 5.3% จากยอดคงค้าง 12.46 ล้านล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อนเป็น 13.12 ล้านล้านบาท โดย 5 ธนาคารที่ยอดสินเชื่อโตมากที่สุดคือ กสิกรไทย 11.1% กรุงไทย 9.9% เกียรตินาคิน 9.7% สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ 9.5% และ ธนาคาร กรุงเทพ 7.6%
เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่าธนาคารกรุงเทพ สินเชื่อ ขยายตัวเพิ่มทุกหมวด เช่น สินเชื่ออื่นเติบโต 40.33% วงเงิน 1.14 แสนล้านบาทจาก 2.87 แสนล้านบาทเป็น 4.04 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมเกษตรและเหมืองแร่ ขยายตัว 31.62% อุตสาหกรรมการผลิตและการพาณิชย์เติบโต 10.29% วงเงิน 7.73 หมื่นล้านบาท การสาธารณูปโภคและการบริการเพิ่มขึ้น 19.87% วงเงิน 9.04 หมื่นล้านบาท ที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ 19.92%วงเงิน 4.92หมื่นล้านบาท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างขยายตัว 7.7%
ค่ายกรุงไทยหมวดสินเชื่อรายย่อย เติบโต 19.92% วงเงิน 1.56แสนล้านบาท (มาจากสินเชื่อส่วนบุคคล 14.39% และที่อยู่อาศัย 9.21% วงเงิน 3.54 หมื่นล้านบาท) ส่วนสินเชื่อรายใหญ่หดตัว 4.61% วงเงิน 3.06 หมื่นล้านบาท แต่สินเชื่อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจขยายตัวถึง 69.52% วงเงิน 1.44 แสนล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอี -2.39% วงเงิน 7,890 ล้านบาท
ส่วนไทยพาณิชย์สินเชื่อบุคคลเติบโต 2.0% วงเงิน 1.99 หมื่นล้านบาท มาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 1.9% วงเงิน 1.20 หมื่นล้านบาท ลิสซิ่ง 1.6% วงเงิน 3,569 ล้านบาทและสินเชื่อไม่มีหลักประกัน(สินเชื่อออนไลน์)ขยายตัว 2.3% วงเงิน 2,871 ล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.27 แสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1.24 แสนล้านบาท
กรุงศรีอยุธยา สินเชื่อรายใหญ่ขยายตัว 2.23% วงเงิน 1.46 หมื่นล้านบาท มาจากสินเชื่อบรรษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติขยายตัว 13.87% สินเชื่อราย่อยขยายตัว 4.93% วงเงิน 4.19 หมื่นล้านบาท(มาจากเช่าซื้อ 6.50% วงเงิน 2.61 หมื่นล้านบาทและสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 6.10% วงเงิน1.61หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพระบุว่า ภาพรวม 9 เดือนแรกปีนี้ ความต้องการสินเชื่อยังขยายตัวในกลุ่มรายใหญ่และสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะแนวราบ ซึ่งแนวโน้มธนาคารพาณิชย์ ยังเป็นการให้ความช่วยเหลือเพื่อประคับประคองลูกค้าไปต่อเนื่อง เพราะยังไม่สามารถบอกเวลาชัดเจนว่า จะสิ้นสุดได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และการฟื้นตัวของธุรกิจแต่ละกลุ่มจะไม่เท่ากัน อย่างทั้งท่องเที่ยวและอสังหา ริมทรัพย์ เป็นเซ็กเตอร์ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบทั้งระบบแต่หลาย อุตสาหกรรมสามารถเดินธุรกิจได้ดีมาก เช่น แพ็กเกจจิ้งที่ได้รับอานิสงส์จากการค้าออนไลน์ อิเล็กทรอนิกส์
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า คาดว่าสินเชื่อทั้งระบบปีนี้ จะเติบโตค่อนข้างสูง 5-6% ซึ่งแนวโน้มทั้งปีอาจจะเอียงมาทางกรอบล่างที่ระดับ 4.5-5%เพราะความต้องการสินเชื่อเร่งตัวมาช่วงไตรมาส1ถึงปลายไตรมาส2 ซึ่งธุรกิจรายใหญ่ขอสินเชื่อเพื่อรักษาสภาพคล่อง และการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญถูกยืดออกไปจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการทำ ให้สินเชื่อปรับเพิ่มมากกว่าปกติ
ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่คาดหวังว่า จะมีอัพไซส์และอาจจะชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจจริง รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี ซึ่งลูกหนี้ประมาณ 60% จะกลับมาผ่อนชำระตามรอบปกติ เหล่านี้อาจทำให้สินเชื่อชะลอตัวลงบ้าง
ส่วนธุรกิจรายใหญ่ยังมีความต้องการสินเชื่อ รวมทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับอานิสงส์จากผู้ประกอบการแข่งขันทางการตลาด แต่กลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งยังเกาะกลุ่มกับธุรกิจซื้อมาขายไปจึงขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศและสถานการณ์ทางการเมืองภายในซึ่งจะมีผลต่อการใช้จ่าย
“ภาคธุรกิจต้องดูแลสภาพคล่องให้เหมาะสมและบริหารจัดหารหนี้ รายที่มีปัญหาหรือรายได้ยังไม่มา แต่ยังมีภาระต้องชำระหนี้ จำเป็นต้องคุยกับเจ้าหนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสม”
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ