สัมภาษณ์พิเศษ: โควิด ฉุดก่อสร้างหด15% ซีแพนเนล ชูเทคโนฯทางรอด

23 เม.ย. 2563 828 0

          วัชร ปุษยะนาวิน

          การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ รวมถึงธุรกิจก่อสร้างที่ส่งผลตลอดซัพพลายเชน ในขณะที่งานก่อสร้างภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ หลังจากช่วงที่ผ่านมาสงครามการค้าทำให้มีการย้ายฐานการผลิตเข้าไทยมากขึ้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างต้องปรับตัว

          ชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (CPanel) ผู้ผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งงานก่อสร้างภาคเอกชนและภาครัฐจะลดลง 15% น้อยกว่าภาพรวมของตลาดทั้งประเทศที่ลดลง 20-30%

          ทั้งนี้ งานก่อสร้างที่ลดลงจะอยู่ในภาคก่อสร้างที่อยู่อาศัย แต่การสร้างโรงงานไม่ลดลง เพราะตั้งแต่สงครามการค้าจีน-สหรัฐ มีนักลงทุนที่มีฐานการผลิตในจีนย้ายมาไทยมากทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งกลุ่มธุรกิจก่อสร้างโรงงานให้เช่าก็เกิดขึ้นมาก  “ผู้ผลิตอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งปูนซีเมนต์และหิน ต่างบอกว่าอยู่ภาคตะวันออกดีที่สุด แม้จะมีโควิด-19 ก็ไม่ร่วงเยอะ ถ้าไม่มีโควิด-19 จะดีกว่านี้มาก เพราะต่างชาติ โดยเฉพาะจีนย้ายฐานการผลิตมาตั้งโรงงานเป็นจำนวนมาก ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับผลบวกด้วย”

          สำหรับธุรกิจก่อสร้างปี 2563 ในภาพรวมยังไม่ดี แต่การที่ต่างชาติมาตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นทำให้หลังโควิด-19 สงบ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็ว และเติบโตเข็มแข็งจากฐานการผลิตใหม่ โดยภาคการก่อสร้างที่เป็นงานของภาครัฐยังเดินหน้าตามปกติ ในขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยค่อนข้างแย่กระทบต่อผู้ก่อสร้างรายเล็กที่สานป่านไม่ยาว โดยถ้าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ภายใน 3 เดือน ผู้ประกอบการรายเล็กอาจไปไม่รอด และหากยืดยาวกว่า 6 เดือน จะกระทบถึงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดกลาง แต่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น คอนโดมิเนียม ยังคงเดินหน้าต่อไปแต่ไม่เร็วเท่าเดิม

          ส่วนผลกระทบต่อ ซีแพนเนล มีน้อยกว่าตลาดในภาพรวม คาดว่าปี 2563 จะกระทบยอดขายไม่เกิน 20% มีมูลค่าเท่ากับปี 2561 เนื่องจากปี 2562 ขยายตัวสูง เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ในปีนี้ ยอดขายจึงลดลงจากอดีตที่ขยายตัวตลอด

          ทั้งนี้ บริษัทปรับตัวด้วยการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อรักษายอดขายและตอบโจทย์ของลูกค้า เช่น กำแพงไม่รับน้ำหนัก (Non-Bearing Wall) เพื่อใช้ในโครงการคอนโดมิเนียมและงานก่อสร้างระบบ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากเพราะตอบโจทย์ลูกค้าตรงจุด ทั้งการผลิตตามความต้องการของลูกค้าอย่างเฉพาะเจาะจง ช่วยลดรอยต่อผนัง และทำเป็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่ตั้งแต่เสากับกำแพงไม่มีรอบต่อเชื่อม ทำให้ลดค่าซ่อมบำรุงรอยแตกร้าวระยะยาว

          รวมทั้งช่วยลดการใช้แรงงานได้มากจากเดิมพื้นที่ 200 ตารางเมตรต่อวัน จะใช้คนงานทุกขั้นตอน 300 คน แต่ผนังแบบ Non-Bearing Wall ใช้คนงานเพียง 20 คน และช่วยลดเวลาก่อสร้างลง 25% โดยบริษัทเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้จึงทำให้มีโอกาสขยายตลาดในส่วนนี้อีกมาก



          ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้รับเหมา ต่างหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีเพียงเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีก่อสร้างเพื่อลดคนงาน แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพราะช่วงโควิด-19 มีแรงงานต่างด้าวกลับประเทศมาก และคาดว่าช่วง 12 เดือนต่อจากนี้ ยังคงต้องปิดชายแดนเพื่อไม่ให้มีการระบาดกลับมาใหม่

          ขณะที่ปัญหาโควิด-19 ในไทยจะทยอยคลี่คลายจนการก่อสร้างเริ่มกลับมาใหม่ จะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานสูงมาก ดังนั้นผู้ประกอบการต่างต้องเร่งใช้เทคโนโลยีเพื่อลดแรงงานในการก่อสร้าง โดย Non-Bearing Wall จะช่วยตอบโจทย์นี้ได้ตรงจุด

          “โควิด-19 จะทำให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างเปลี่ยนไป จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งในโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างต่างๆ ที่ออกมา ก็จะมุ่งไปที่การลดใช้แรงงาน เพื่อลดจำนวนคนงานในระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการเช่าที่สร้างแคมป์ก่อสร้าง ลดปัญหามวลชน และที่สำคัญลดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19”

          ปัจจุบันงานก่อสร้างคอนโดมิเนียมของบริษัท ยังไม่มาก มีเพียงโครงการเก่าที่เริ่มสร้างแล้ว แต่ช่วงครึ่งปีหลังงานก่อสร้างคอนโดมิเนียมจะเข้ามามาก โดยที่ผ่านมางานส่วนใหญ่ของบริษัทเน้นก่อสร้างแนวราบ เช่น บ้านจัดสรรสูงไม่เกิน 3 ชั้น แต่ได้ปรับไปรับงานคอนโดมิเนียมมากขึ้น ทำให้สัดส่วนงานก่อสร้างแนวราบลดลงจากเดิม 90% งานคอนโดมิเนียม 10% มาเป็นสัดส่วน 50% เท่ากัน ซึ่งแม้ไม่ชดเชยส่วนผลกระทบโควิด-19 ได้หมด แต่ทำให้ผลประกอบการลดน้อยกว่าภาพรวมตลาด

          แม้ว่าปี 2563 ไทยได้รับผลกระทบโควิด-19 รุนแรง แต่เมื่อเทียบกับวิกฤติ

          เศรษฐกิจปี 2540 มองว่าโควิด-19 รุนแรงน้อยกว่า เพราะปี 2540 ลูกค้าจำนวนมากไม่จ่ายหนี้ แต่ขณะนี้ลูกค้ายังจ่ายเงินตรงเวลา แต่โครงการเกิดใหม่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงแรมที่หยุดหมด

          ภายหลังการระบาดของโควิด-19 ยุติ ในช่วง 2 ปีนับจากนี้ ภาคการก่อสร้างจะกลับมาดีแน่นอน แต่รูปแบบการดำเนินธุรกิจจะเปลี่ยนไป ทั้งในโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง และในพื้นที่การก่อสร้างจะนำหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติ รวมทั้งวัสดุก่อสร้างใหม่เข้ามาทดแทนการใช้แรงงานมากขึ้น และพื้นที่ก่อสร้างต้องรักษาระยะห่าง เพื่อป้องกันโรคติดต่อระบาด ซึ่งอนาคตมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้น รวมทั้งการจ้างคนงานมีต้นทุนสูง หากป่วยและหยุดงานก็จะกระทบต่อการทำงาน ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปี จะลดแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างลง 50%

          นอกจากนี้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินมีผลบังคับใช้ จะทำให้มีที่ดินส่วนหนึ่งปล่อยเข้าสู่ธุรกิจก่อสร้างมากขึ้นและราคาถูกลง ซึ่งทำให้ต้นทุนการลงทุนแต่ละโครงการลดลง รวมทั้งจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ขึ้น และจะมีนักลงทุนต่างชาติทยอยเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะจากจีนมาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ที่มา: