สศช.เปิด3จุดเสี่ยงศก.ไทย

10 ก.พ. 2565 824 0

         นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในหัวข้อ ระบบเศรษฐกิจในทศวรรษใหม่ ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีข้างหน้า ต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย โดยทำให้ยืดหยุ่น ทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน อาจล้มลงบ้างแต่ต้องลุกได้เร็วและเดินไปข้างหน้าให้ได้ ต้องปรับโครงสร้างให้รวดเร็วขึ้นสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากขึ้น และต้องไม่พึ่งพาภาคเศรษฐกิจใดมากเกินไปเพื่อลดความเสี่ยงและฟื้นตัวได้เร็ว

          อย่างไรก็ตามผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักลง แต่เมื่อควบคุมการระบาดได้ ในหลายประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างสูง ผิดกับประเทศไทยที่ฟื้นตัวได้ช้า เพราะที่ผ่านมาพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงในสัดส่วน 18-19% ของจีดีพี เมื่อภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นเท่าที่ควร ทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ไม่มากนัก และมีความเสี่ยงที่เป็นตัวฉุดรั้ง ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง เงินเฟ้อสูง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

          ส่วนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ต้องเผชิญหลังโควิด-19 ความถ่างของการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น บทบาทของคริปโตเคอเรนซี่ที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับการเป็นปัจจัยเสี่ยง เพราะไม่ได้เชื่อมโยงภาคการเงิน หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักจะเชื่อมโยงมายังประเทศอื่นมากขึ้น ดังนั้น การเติมเต็มเศรษฐกิจไทยใน 10 ปีข้างหน้าให้ยืนอยู่ได้ ต้องลดความเสี่ยงให้มากขึ้น

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงทิศทางนโยบายการคลังในอนาคต ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีภาระทางการคลังมากโดยเฉพาะในช่วงที่ต้องจัดหาเงินกู้นำมาใช้เยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด ดังนั้นสิ่งที่ต้องมองไปคือการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง หมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการทางการคลัง โดยต้องเพิ่มประสิทธิ ภาพการจัดเก็บรายได้ในรัฐ และการขยายฐานภาษี

          นอกจากนี้ คลังยังอยู่ระหว่างออกมาตรการภาษีเพื่อจูงใจ การลงทุนจากทั้งไทยและต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพของไทย รวมถึงภาคการเกษตร ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการทำให้สตาร์ทอัพไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ที่มา: