สภาพัฒน์หั่นจีดีพีเหลือ3% ถกคลัง-ธปท.ดันคนละครึ่งเฟส5

18 พ.ค. 2565 511 0

         สภาพัฒน์ เผยไตรมาส 1/65 จีดีพี ขยายตัว 2.2% ปรับลดทั้งปีลงเหลือ 3% จากความไม่แน่นอนสถานการณ์โลก ชี้ส่งออก-ท่องเที่ยวช่วยพยุงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จับตาความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ทำเศรษฐกิจกระทบทั่วโลก พร้อมเตรียมหารือ “คลัง-ธปท.” ถก “คนละครึ่งเฟส 5” “อาคม” ชี้สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว การบริโภคดีขึ้น ไตรมาสแรกพุ่ง 3.9% หุ้นไทยปิดพุ่ง 30.11 จุด รับจีดีพีโตกว่าคาดการณ์-กำไร บจ.ดี

          นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แม้จะได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การสู้รบในยูเครน-รัสเซีย ที่ยืดเยื้อยาวนานกระทบกับเศรษฐกิจโลก สศช.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพี ปี 65 ลงจากระดับ 3.5-4.5% เหลือ 2.5-3.5% หรือค่ากลางที่ 3% จากเดิมที่ 3.5-4.5%

          สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.9% การลงทุนรวมขยายตัว 0.8% จากไตรมาส 4 ชะลอตัว -0.2% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 4.6% ต้องเร่งรัดโครงการลงทุนให้มากขึ้น มูลค่าการส่งออกขยายตัว 14.6% จากไตรมาส 4 ขยายตัว 21.3% ที่ผ่านการส่งออกทุเรียนและผลไม้ไปจีนยังมีข้อจำกัด จากการเข้มงวดพิธีการส่งออก โดยเฉพาะเมื่อจีนดำเนินโยบายซีโร่โควิด จึงกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีน แม้การฉีดวัคซีนของไทย 2 เข็มมากกว่า 50% การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังต้องเฝ้าระวัง

          “สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติซึ่งคาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงขอความร่วมมือให้ช่วยกันให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าผ่านวิกฤติไปด้วยกัน โดยรัฐบาลและภาครัฐจะช่วยเหลือประชาชนแบบ พุ่งเป้า เนื่องจากทรัพยากรมีข้อจำกัด ขอให้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยก่อนเที่ยวต่างประเทศ” นายดนุชา กล่าว

          สำหรับการพิจารณามาตรการคนละครึ่งเฟส 5 นั้น นายดนุชา กล่าวว่า จะต้องดูในแง่ความจำเป็นของมาตรการนี้ และประเมินร่วมกับการบริโภคและกำลังการใช้จ่ายของประชาชนด้วย ซึ่งสศช.จะต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้ง

          “ส่วนการกู้เงินเพิ่มเติมต้องคิดให้รอบคอบ การกู้เพิ่มต้องดูฐานะการคลัง ควรกู้ได้หรือไม่ จำนวนเท่าใด กู้มาแล้วจะใช้ทำอะไร วงเงินที่เหลืออยู่ 7.4 หมื่นล้านบาท ต้องนำไปใช้ส่วนแรกผ่านโครงการฟื้นเศรษฐกิจฐานราก 1 หมื่นล้านบาท และใช้รักษาพยาบาล ผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบประมาณรองรับส่วนที่เหลืออยู่ 4.8 หมื่นล้านบาทต้องเสนอ ครม.ใช้เงินก่อนสิ้น ก.ย. 65 จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง” นายดนุชา กล่าว

          การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ต้องเร่งตลาดเพื่อการส่งออก และส่งเสริมการท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ การเน้นทำให้ไทยพึ่งพาอยู่ด้วยตนเองมากขึ้น จากหลายประเทศงดการส่งออกวัตถุดิบ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนต้องดูแลต่อเนื่องการเร่งรัดการลงทุนสำคัญ โดยยังเป็นห่วงภาระหนี้ภาคเอกชนและภาคครัวเรือนและปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า  แม้ว่าจะปรับลดประมาณการจีดีพีทั้งปีลง แต่อัตราการขยายตัวยังอยู่ในแดนบวก และมีสัญญาณฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนจะดำเนินโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ต่อหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาระดับการบริโภคของประชาชนด้วย ขณะที่ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีวงเงินเหลืออยู่ 4.8 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้เป็นผู้ดูแล

          ตลาดหุ้นไทยรีบาวนด์ 30.11 จุด
          ด้านบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง หลังจิกลดลงอย่างหนักช่วงก่อนหน้าที่นักลงทุนกังวลภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ บวกกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ดีกว่าคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 30.11 จุด ปิดที่ 1,614.49 จุด หรือเพิ่มขึ้น 1.9% มูลค่าการซื้อขาย 85,222.10 ล้านบาท

ที่มา: