ศูนย์ฯสิริกิติ์ ดีเดย์เปิด12ก.ย. ชูงาน เอเปค ย้ำศักยภาพไทย

19 ส.ค. 2565 391 0

 

         “ศูนย์ฯสิริกิติ์” เคาะฤกษ์เปิดทางการ 12 ก.ย.  ก้าวสู่ตำนานบทใหม่อีเวนต์แพลตฟอร์ม หลังทุ่มเงิน 1.5 หมื่นล้านพลิกโฉมใหญ่รอบ 30 ปี ลั่นความพร้อม 100% ประชุมสุดยอดผู้นำ “เอเปค 2022” 13-18 พ.ย. โชว์ศักยภาพประเทศไทยสู่สายตาผู้นำระดับโลก เผยจอง พื้นที่จัดงานยาวปี 66 ทะลุ 160 อีเวนต์ ดันรายได้โต 4 เท่า แตะ 2 พันล้าน  ด้าน“ทีเส็บ” ดันยุทธศาสตร์ดึงงานไมซ์ต่างประเทศ ปลุกตลาดนักเดินทางไมซ์หลังซึมยาวเซ่นพิษโควิด

          ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” ทำหน้าที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงเป็น สถานที่จัดงานประชุมและอีเวนต์สำคัญทั้งในระดับชาติและนานาชาติกว่า 20,000 งาน ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการ 29 ส.ค.2534 ก่อนปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ในเดือน เม.ย.2562

          ปัจจุบัน ศูนย์ฯ สิริกิติ์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งบริหารงานโดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด หนึ่งในธุรกิจใต้ร่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยดำเนินการปรับปรุงและดัดแปลงอาคารตามสัญญา ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.2562-10 ก.ย.2565 เตรียมส่งมอบอาคารและสิ่งปลูกสร้างให้กับกรมธนารักษ์วันที่ 9 ก.ย. และมีกำหนดเปิดบริการอย่างเป็นทางการวันที่ 12 ก.ย.2565

          ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ถือเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ “กลุ่ม สิริวัฒนภักดี” ยึดหัวหาดย่านถนนพระราม 4 ยกระดับสู่ถนนเศรษฐกิจสายใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ เทียบชั้นสุขุมวิทและสีลม

          นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากดำเนินการปรับโฉมศูนย์ฯ สิริกิติ์ครั้งใหญ่ ด้วยเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท ตอบโจทย์ธุรกิจไมซ์ (MICE : การจัดประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า) แบบครบวงจร รองรับงานไมซ์ในประเทศ และนานาชาติ คาดการณ์ว่าในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 3-4 ปีจากนี้ ศูนย์ฯ สิริกิติ์จะมีงาน ไมซ์นานาชาติสัดส่วน 30% งานไมซ์ในประเทศ 70% และเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แนวโน้มงานไมซ์นานาชาติน่าจะขยับสัดส่วนได้มากขึ้น

          ตำนานใหม่ “ที่สุดของอีเวนต์แพลตฟอร์ม”

          บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายพัฒนาศูนย์ฯ สิริกิติ์  ให้เป็นมากกว่าศูนย์ประชุม ก้าวสู่การเป็น “ที่สุด ของอีเวนต์แพลตฟอร์ม” (The Ultimate World Class Event Platform for All) ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของธุรกิจไมซ์และอีเวนต์ ของประเทศไทยสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ในภาพรวม รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจ อีเวนต์ โรงแรม ศูนย์การค้า และระบบขนส่งสาธารณะ

          ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ได้รับการออกแบบพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่น รองรับการจัดงานทุกรูปแบบได้พร้อมๆ กัน เอื้อต่อการจัดการด้านโลจิสติกส์และขนย้ายสินค้าจัดแสดงทุกประเภท พร้อมเชื่อมตรงรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เข้าสู่พื้นที่จัดงาน รวมถึงการดึงจุดแข็ง ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยศักยภาพดังกล่าวทำให้ดึงงานไมซ์นานาชาติจากประเทศ อื่นๆ เช่น เคยจัดที่สิงคโปร์และฮ่องกง เข้ามา จัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

          ปัจจุบันมีงานอีเวนต์ทั้งในและต่างประเทศยืนยันจัดงานที่ศูนย์ฯสิริกิติ์กว่า 160 งาน ตั้งแต่เปิดให้บริการโฉมใหม่จนถึงสิ้นปี 2566 มีทั้งงานไมซ์ ประเดิม 2 งานแรก วันที่ 14-16 ก.ย. ได้แก่  ASEAN Sustainable Energy Week 2022 และ Tissue & Paper  Bangkok 2022 รวมถึงงานด้านไลฟ์สไตล์อื่นๆ เช่น คอนเสิร์ต และงานมหกรรมเกม โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ ก.ย.-ธ.ค. มีอัตราการใช้พื้นที่ 55% และตั้งเป้าปี 2566 เพิ่มเป็น 65%

          พร้อม100%จัด “เอเปค” พ.ย.นี้

          อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของศูนย์ฯ สิริกิติ์ คือการเป็นสถานที่จัดงานประชุมความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ในวันที่ 13-18 พ.ย.นี้

          “งาน APEC 2022 ถือเป็นงานประชุมระดับนานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดในปีนี้ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงิน สะพัดจำนวนมาก ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงานรวมหลักหมื่นคน ทั้งผู้นำประเทศต่างๆ ผู้ติดตาม  และสื่อมวลชน หนุนการจองโรงแรมที่พักในกรุงเทพฯช่วงจัดงานนี้มีอัตราการเข้าพักเต็ม 100% โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 5-6 ดาว และโรงแรมรอบๆ ศูนย์ฯสิริกิติ์”

          ศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้เตรียมความพร้อมรอบด้าน เพื่อดูแลความปลอดภัยผู้นำจากประเทศต่างๆ รวมถึงความพร้อมด้านเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย ความพร้อมด้านสถานที่ มีห้องประชุมใหม่รองรับและนำเสนอความเป็นไทย เดินทางสะดวก เพราะตั้งอยู่ใจกลางเมือง นอกจากนี้ทีมงานของศูนย์ฯสิริกิติ์ยังมีความเป็นมืออาชีพ เพราะมีประสบการณ์การจัดงานใหญ่มาแล้ว

          “อีกเรื่องสำคัญคือการเตรียมความพร้อมด้านบริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยร่วมมือกับตัวแทนเชฟจากทั่วประเทศไทย มารังสรรค์อาหาร สะท้อนความเป็นไทยให้ผู้เข้าร่วมงานได้บอกต่อประสบการณ์ด้านอาหารของไทย”

          ดันรายได้ปี66โต4เท่าแตะ2พันล้าน

          นายสุทธิชัย บัณฑิตวรภูมิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ศูนย์ฯสิริกิติ์ ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 ที่ 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 เท่า เทียบปี 2562 จากการปรับโฉมใหม่ของศูนย์ฯสิริกิติ์ ทำให้มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 3 แสนตร.ม. เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากเดิม คาดมีผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากก่อนปิดปรับปรุงที่มี 6 ล้านคน ต่อปี ด้วยจำนวนงานไมซ์และอีเวนต์ที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 300-400 งานต่อปี จากเดิม 100 งานต่อปี

          “ศูนย์ฯสิริกิติ์ยังมีการปรับราคาเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นราว 15% จากราคาเดิม สูงกว่าศูนย์การประชุมอื่นๆ 20% จากข้อได้เปรียบเรื่องโลเกชั่น ตั้งอยู่ใจกลางเมือง”

          สำหรับพื้นที่ก่อสร้างรวม 3 แสนตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่จัดงานอีเวนต์ 78,500 ตร.ม. พื้นที่สำหรับร้านค้าปลีก 11,000 ตร.ม. รองรับการจัดงานได้ทุกรูปแบบ ด้วยฮอลล์จัดนิทรรศการ 8 ห้อง ห้องเพลนารี 4 ห้อง ห้องบอลรูม 4 ห้อง และห้องย่อย 50 ห้อง รองรับผู้เข้าใช้บริการได้มากถึง 1 แสนคนต่อวัน พร้อมลานจอดรถใต้ดินที่สามารถจอดรถยนต์ได้มากขึ้นถึง 3,000 คัน

          “ตามกำหนดเปิดศูนย์ฯสิริกิติ์อย่างเป็นทางการวันที่ 12 ก.ย.นี้ รองรับงานไมซ์และ อีเวนต์ได้ 100% แต่ในส่วนพื้นที่รีเทล จะเปิดให้บริการได้บางส่วน 50% เมื่อถึงงานเอเปค 2022 เดือน พ.ย. เพิ่มเป็น 70-80% และในปีหน้า จะเปิดให้บริการพื้นที่รีเทลครบ 100%”

          “ทีเส็บ” ดึงงานไมซ์ต่างประเทศ

          ด้าน นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บเร่งกระตุ้นการจัดงานและการเดินทางของนักเดินทางไมซ์ ขานรับนโยบายรัฐบาลรองรับการเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยโครงการกระตุ้นการตลาด “Thailand MICE Back” เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ เร่งกระตุ้นให้เกิดการจัดงานและกิจกรรมไมซ์ในประเทศต่อเนื่อง พร้อมดึงงานไมซ์ระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย โดยร่วมบูรณาการความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน

          แผนการดึงงานระดับโลกและการเพิ่มจำนวนงานไมซ์ต่างประเทศ ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับโลก เช่น งาน The International Conference on Family Planning 2022 (ICFP 2022) การประชุมวิชาการวางแผนครอบครัวนานาชาติ เพื่อหารือด้านสุขภาพอนามัย และการเจริญพันธุ์เพื่อคุณภาพชีวิตของ ประชากรโลก วันที่ 14-17 พ.ย. 2565, งาน 62nd ICCA Congress (ICCA Congress 2023) การประชุมสมาคมการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 62 วันที่ 12-15 พ.ย. 2566, งาน Udon Thani International Horticultural Expo 2026 หรืองานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี พ.ศ. 2569 วันที่ 1 พ.ย. 2569-14 มี.ค. 2570 และ งาน Thailand International Air Show ซึ่งกำหนดจัดงานประกาศตัวในปี 2566 โดยงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 และมีการจัดงานเต็มรูปแบบในปี 2570

          นอกจากนี้ยังมีงานที่อยู่ในขั้นตอนการประมูลสิทธิ์ ได้แก่ งานเอ็กซ์โป 2028 ภูเก็ต ประเทศไทย กำหนดจัดวันที่ 20 มี.ค.- 17 มิ.ย. 2571 และงาน Nakhon Ratchasima International Horticultural Expo 2029 หรืองานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 กำหนดจัดวันที่ 10 พ.ย. 2572- 28 ก.พ.2573

 

ที่มา: