ลุ้นปลายปีตลาดอสังหาฯคึกคัก

24 ส.ค. 2566 390 0

 

          ได้แรงหนุนรบ.ใหม่ออกแผนกระตุ้น

          ข้อมูลซื้อขายบ้านQ3ฟ้นตัวจิ๊บจิ๊บ        

          นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดจาก DDproperty Thailand Property Market Report Q3 2566 ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขาย-เช่าอสังหาฯ บนเว็บไซต์ DDproperty พบว่าในไตรมาส 3 ปีนี้ ภาพรวมดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาส 2 แต่ยังลดลง 6% จากช่วงเดียวกันปี 2565 และยังลดลงถึง 10% เทียบช่วงเดียวกันก่อนเกิดโควิด-19 ปี 2562 สะท้อนว่าแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในระยะยาวยังไม่ฟื้นตัวดีดังเดิม

          นายวิทยากล่าวว่า สาเหตุที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้างและค่าแรง ผู้ประกอบการจึงปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัย โดยดัชนีราคาบ้านเดี่ยวปรับเพิ่มมากที่สุด 2% จากไตรมาส 2 หากเทียบช่วงก่อนเกิดโควิด บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ปรับเพิ่มขึ้น 13% และ 6% ตามลำดับ ขณะที่คอนโดฯปรับลดลงมากถึง 25%

          “ตลาดอสังหาฯไทยในปีนี้มีสัญญาณเติบโต แต่ไม่หวือหวาอย่างที่คาดการณ์ เนื่องจากมีปัจจัยท้าทายรอบด้าน ทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ฟื้นตัว ภาวะหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดรอบ 15 ปี โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาฯปีนี้ผันผวน เพราะผู้บริโภคกังวล

          ต่อดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน” นายวิทยากล่าว และว่า เทรนด์การเช่าที่อยู่อาศัยจึงยังเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุดเพิ่มขึ้นถึง 108% ส่วนความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นเพียง 7% เทียบช่วงก่อนเกิดโควิด โดยทาวน์เฮาส์มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง27% ตามด้วยบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 20% มีเพียงคอนโดฯที่ความต้องการซื้อในระยะยาวยังคง หดตัวและลดลง 1%

          นายวิทยากล่าวว่า ขณะที่กำลังซื้อจาก ชาวต่างชาติยังต้องจับตาดูวิกฤตอสังหาฯในจีนจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจจีนมากน้อยแค่ไหน ส่วนตลาดอสังหาฯในไทยคาดว่าหลังจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้น ออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจนจะช่วยปลุกความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนได้ ผลักดันให้อสังหาฯไทยกลับมาเติบโตคึกคักในปลายปีนี้

          “ทำเลที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจและพื้นที่กรุงเทพฯรอบนอกที่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้า โดยเขตคันนายาว ดัชนีราคาเพิ่มมากสุด 15% เทียบไตรมาสก่อน เป็นทำเลอยู่ใกล้รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ตามด้วยเขตบางคอแหลม เพิ่มขึ้น 8% เขตสะพานสูง และเขตบางเขน เพิ่มขึ้น 7% เขตบึงกุ่ม เพิ่มขึ้น 6%”

 

ที่มา: