ลดภาษีที่ดิน90% เยียวยาไวรัส ยื่นภงด.91ยืด3ด.

26 ม.ค. 2564 507 0

          คนละครึ่ง จี้ใช้ใน14วัน

          ชง ครม. ออกแพ็กเกจ “มาตรการภาษี” เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ“โควิด-19” เพิ่มเติม ลดภาษีที่ดิน 90% ต่ออายุ ลดค่าโอน-จดจำนองบ้านต่ำกว่า 3 ล้าน เหลืออย่างละ 0.01% พร้อมยืดเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลอีก 3 เดือน บรรเทาภาระให้ประชาชน ด้านคลังเตือนรับสิทธิ “คนละครึ่ง” แล้ว รีบใช้จ่ายภายใน 14 วัน ห้ามเกิน 7 ก.พ. ส่วนยอดใช้จ่ายรวมทะลุกว่า 7.1 หมื่นล้าน

          เมื่อวันที่ 25 ม.ค. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ม.ค. จะมีการพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม ในรูปแบบมาตรการด้านภาษี เพื่อช่วยลดภาระรายจ่ายให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ ประกอบด้วย การลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบปี 2564 ลง 90% และให้จัดเก็บจริงเพียง 10% ครอบคลุมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ทำการเกษตร ที่ดินว่างเปล่า และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมหรืออื่น ๆ

          นอกจากนี้จะมีการขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนซื้ออสังหาริมทรัพย์ สำหรับราคาบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และลดค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย โดยจะลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือ 0.01% และยังลดค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนอง เหลือ 0.01% ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก เช่น กรณีซื้อบ้านหลังละ 3 ล้านบาท เดิมจะต้องเสียค่าโอนและจดจำนองสูงถึง 60,000 บาท จะลดเหลือ 300 บาทเท่านั้น

          ขณะเดียวกันจะเสนอให้ ครม.พิจารณาขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2563 กับกรมสรรพากรออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งเดิมกำหนดสิ้นสุดยื่นวันสุดท้าย 31 มี.ค. ออกไปเป็นวันที่ 30 มิ.ย. เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี และให้มีสภาพคล่องนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

          น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการคนละครึ่งว่า ยอด ณ วันที่ 24 ม.ค. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1 ล้านร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้ว 13.65 ล้านคน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 71,323 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 36,488 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 34,835 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สงขลา เชียงใหม่ และสมุทรปราการ ตามลำดับ และผู้ประกอบการร้านค้ายังคงสมัครเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

          สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 รอบเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ได้รับเอสเอ็มเอสยืนยันสิทธิ จะต้องเริ่มใช้จ่ายครั้งแรกผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ภายใน 14 วัน  ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. แต่ไม่เกินวันที่ 7 ก.พ. มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ จึงขอให้รีบดำเนินการยืนยันตัวตนด่วน โดยสามารถดำเนินการเองได้โดยง่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง หรือผ่านตู้เอทีเอ็มสีเทาของธนาคารกรุงไทยกว่า 3,300 ตู้ทั่วประเทศ โดยสามารถค้นหาตำแหน่งของตู้เอทีเอ็มสีเทาได้ในกูเกิล แมพส์ โดยพิมพ์คำว่า เอทีเอ็ม กรุงไทย ยืนยันตัวตน โดยไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคารกรุงไทยเพียงช่องทางเดียว

ที่มา: