ลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 90%

04 มิ.ย. 2563 1,179 0

          ครม.ไฟเขียวลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างทุกประเภทลง 90% เป็นเวลา 1 ปีในปี 63 พิษโควิด-19 ที่ดินการเกษตรเสีย 50 บาท ที่อยู่อาศัยจ่าย 100 บาท ที่ดินเพื่อการพาณิชย์-ว่างเปล่าได้ลดด้วย ส่งผลให้ อปท.สูญรายได้ 36,000 ล้านบาท เร่งส่งจดหมายคำนวณภาษีที่ดินใหม่ภายในเดือนนี้ ให้ทันจ่ายเดือน ส.ค.

          นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ….(พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ)มีสาระสำคัญลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี พ.ศ.2563 เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภท ดังนี้

          1.ที่ดินประกอบการเกษตร คิดอัตราภาษีอยู่ที่ 0.01% ซึ่งถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา 3 ปีแรก(ปี 2563-2565)จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี แต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาทจะเสียภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯจะเหลือชำระภาษีเพียง 50 บาท

          2.ที่อยู่อาศัยสำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และกรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับบ้านหลังอื่น หากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย 0.02% คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จะเหลือชำระภาษีเพียง 100 บาท

          3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น เช่น ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมจะเสียภาษี 0.3%  คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท และ 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ใช้ทำประโยชน์มูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษี 0.3% คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯจะชำระภาษี 1,500 บาท

          “คลังได้เลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นเดือน ส.ค.เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีผลกระทบอยู่และครั้งนี้ ครม.ได้ลดจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายลง 90% โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จะเร่งส่งจดหมายคำนวณภาษีที่ดินใหม่ส่งให้ผู้ถือครองที่ดินตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป โดยการลดภาษีที่คำนวณได้ลง 90% ส่งผลกระทบต่อรายได้ อปท.ทั่วประเทศที่จะนำไปดำเนินภารกิจในปีงบประมาณปี 63 จากเดิมคาดการณ์ไว้ 40,000 ล้านบาท จะเหลือรายได้เพียงแค่ 4,000 ล้านบาทหรือรายได้ลดลง 36,000 ล้านบาท”

          ทั้งนี้ สำหรับกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 จำนวน 18 ฉบับได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับครบแล้ว โดยในประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบ

          เกษตรกรรมจำนวน 2 ฉบับ จะมีความชัดเจนในการพิจารณาประเภทที่ดิน ประกอบด้วย 1.หลักเกณฑ์ว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างลักษณะใดเป็นการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง บ้านหลังที่ 2 ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย ให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน เช่น บ้านเช่า อพาร์ตเมนต์ หอพัก คอนโด เป็นต้น รวมทั้งโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย เป็นต้น

          2.หลักเกณฑ์ใช้ประโยชน์ประกอบเกษตระกรรม อาทิ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้หมายความรวมถึงการปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำนาเกลือสมุทร ทำสวนป่า เพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภคหรือจำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์มและให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมนั้นด้วย เป็นต้น

          นอกจากนั้นยังมีบัญชีแนบท้ายการประกอบการเกษตรที่เป็นการทำไร่ปลูกผักปลูกไม้ผลยืนต้นการปลูกสวนป่า การปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะหรือการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสมตามชนิดพืชที่กำหนด จะต้องประกอบการเกษตรให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในตาราง จึงถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรมโดยกำหนดพืช 51 ชนิดและสัตว์ 9 ชนิด อาทิ ปลูกกล้วย 200 ต้น/ไร่ สตรอว์เบอร์รี 10,000 ต้น/ไร่ ส้มละมุดลางสาดลองกอง 45 ต้น/ไร่ ลิ้นจี่ลำไย 20 ต้น/ไร่ มะละกอยกร่อง 100 ต้น/ไร่ มะนาว 50 ต้น/ไร่ เป็นต้น

ที่มา: