รายงานพิเศษ: Q2/66 กลุ่มอสังหาฯ ส่อแววกำไรหด

11 ส.ค. 2566 233 0

โดยบมจ.ศุภาลัย หรือ SPALI ไตรมาส 2 มีกำไรเหลือ 1,700.73 ล้านบาท ลดลง 18.04% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,075.08 ล้านบาท สาเหตุมาจากมีรายได้รวม 8,444 ล้านบาท ลดลง 1% จาก 8,555.17 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 2% ส่วนงวด 6 เดือนกำไรสุทธิหดตัว 14.5% จาก 3,252.90 ล้านบาท มาสู่ 2,781.14 ล้านบาท

          บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP มีกำไรไตรมาส 2 ที่ 1,544.45 ล้านบาท ลดลง 1.87% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 1,573.93 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีนี้ ที่มีกำไร 1,478.40 ล้านบาท งวด 6 เดือน กำไรสุทธิลดลงจาก 3,303.84 ล้านบาท เหลือ 3,022.86 ล้านบาท หรือลดลง 8.50%

          บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ หรือ LPN กำไรไตรมาส 2 ลดลง 40.9% มาที่ 87.10 ล้านบาท จากเดิมมีกำไร 147.44 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดลง ขณะที่งวด 6 เดือน กำไรลดลง 31.48% มาสู่ 232.13 ล้านบาท จาก 338.77 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน

          บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN ขาดทุนสุทธิ 84.52 ล้านบาท เป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้น 95% จากที่ขาดทุนสุทธิ 43.43 ล้านบาท เพราะรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ลดลง 30.3% ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 11.9% และค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้น 53.2% งวด 6 เดือน ขาดทุนสุทธิ 144.08 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 56% จากขาดทุนสุทธิ 324.69 ล้านบาท ขณะที่กรณี แอชตัน อโศก จะได้พิจารณาแนวทางในการตั้งสำรองในไตรมาสถัดไป

          ส่วนบริษัทที่กำไรยังเติบโตได้ คือ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ หรือ QH มีกำไรสุทธิไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเป็น 669.41 ล้านบาท จาก 515.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.92% งวด 6 เดือน มีกำไร 1,261.82 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 14.71% จาก 1,100.03 ล้านบาท

          ในมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ที่มีต่อภาพรวมไตรมาส 2 ของบจ.กลุ่มนี้ (จำนวน 15 ราย) คาดจะมียอดขายที่ 8.12 หมื่นล้านบาท เพิ่ม 6.3% จากไตรมาสก่อน (QoQ) แต่ลดลงเล็กน้อย 1.6% จากงวดเดียวกันปีก่อน (YOY)

          กลุ่มคอนโดมิเนียมมีการเติบโตได้ดีกว่าในเชิง QoQ และ YoY คิดเป็นอัตรา 2% และ 14% ตามลำดับ มีมูลค่า 3.86 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48% ขณะที่แนวราบมียอดขาย 4.25 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52% เพิ่ม 11% QoQ แต่ลดลง 12% YoY

          คาดกำไรปกติของกลุ่มฯ ดีขึ้น QoQ แต่ลดลง YoY จากการโอนกรรมสิทธิ์ของยอดขายรอโอน (Backlog) ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 1 ปีนี้ ที่มีอยู่ราว 2 แสนล้านบาท และมีกำหนดรับรู้รายได้ช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566 ราว 1.1 แสนหมื่นล้านบาท (รวม JV) เป็นกลุ่มแนวราบ 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่รับรู้รายได้ในไตรมาสถัดไป บวกกับยอดขายไตรมาส 2 ที่บางส่วนโอนกรรมสิทธิ์ทันในไตรมาสเดียวกัน ตลอดจนการส่งมอบคอนโดมิเนียมใหม่

          ภาพรวมยังเห็นการเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ต่อเนื่อง มีจำนวนทั้งสิ้น 65 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 9.25 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากไตรมาส 1 ที่มีมูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาท หรือ 39 โครงการ และสูงขึ้น 11% จากไตรมาส 2 ปีก่อน ที่มีมูลค่า 8.34 หมื่นล้านบาท จำนวน 65 โครงการ

          หากจำแนกตามประเภทสินค้า พบว่าการเปิดโครงการใหม่ส่วนใหญ่คงเป็นสินค้ากลุ่มแนวราบ โดยมีทั้งสิ้น 44 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 64% ของมูลค่าเปิดโครงการใหม่ หรือ 5.9 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ มาจากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดแนวราบ

          ขณะที่ คอนโดมิเนียมมีการทยอยเปิดโครงการใหม่มากขึ้น รวม 21 โครงการ มูลค่า 3.35 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 36% ของมูลค่าเปิดโครงการใหม่ เพิ่มจากสัดส่วน 34% งวดปีก่อน เพิ่มขึ้น 19% YoY และเพิ่มขึ้น 41% QoQ

          สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่จะนำคอนโดมิเนียมใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อสร้างยอดขายรอโอน (Backlog) ต่อการรับรู้รายได้ในระยะถัดไป ทั้งนี้คอนโดมิเนียมใหม่ที่เปิดตัวในไตรมาส 2 ยังมาจากหลากหลายผู้ประกอบการ

          คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มระดับกลางลงมา เน้นเจาะกลุ่มลูกค้า Real Demand หรือผู้ลงทุน ตลอดจนลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น คนรุ่นใหม่ และนักศึกษา สำหรับ Campus Condo ฯลฯ

          สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะเปิดโครงการใหม่จำนวนมาก เพื่อผลักดันยอดขาย (PRESALE) ให้สูงขึ้น หลังจากช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา มียอดขายสะสม 1.57 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 44% ของเป้าทั้งปี 2566 ที่คาดการณ์ไว้ 3.55 แสนล้านบาท ภายใต้การเปิดโครงการใหม่จำนวน 104 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 1.38 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งปีนี้

          นอกจากนี้ คาดว่ากำไรปกติในครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรกตามแผนเปิดโครงการใหม่ และส่งมอบโครงการคอนโดมิเนียมใหม่

          ทั้งนี้ แนะนำหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีพื้นฐานดี แนวโน้มกำไรปกติทั้งปี 2566 ทำทำสถิติสูงสุด (NEW HIGH) และจ่ายปันผลในอัตราจูงใจ ประกอบด้วย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) คาดครึ่งปีแรกจ่ายปันผลสูงเฉลี่ย 4%, บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (ORI) และ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SC) คาดปันผลครึ่งปีอย่างน้อย 2% ขณะที่มีแผนเปิดโครงการใหม่เชิงรุกจะหนุนช่วงครึ่งปีหลัง

          ส่วน AP น่าสนใจ ด้วยทิศทางกำไรจะไต่ระดับขึ้นรายไตรมาสในปีนี้ และเติบโตทั้ง YOY และ QOQ ในไตรมาส 3-4 รวมถึงปันผลต่อปีสูงเกิน 6% เปิดโครงการใหม่มากขึ้น ทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม

          คงต้องมาลุ้นกันอีกทีในงวดไตรมาส 3 และงวดครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก

 

ที่มา: